นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่า ทั้งเรื่องรูปแบบการลงทุน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนทางการเงิน ความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม และที่ดิน ในการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) คาดว่าจะศึกษาฯ แล้วเสร็จภายในปี 67 ทั้งนี้ การก่อสร้างสนามบินใหม่ทั้ง 2 แห่ง จะช่วยรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะดึงดูดเที่ยวบินมาลงสนามบินอันดามันมากขึ้นด้วย

นายกีรติ กล่าวต่อว่า สำหรับท่าอากาศยานอันดามัน ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีความเป็นไปได้อาจเป็นการร่วมลงทุนกับสายการบิน หรือเอกชนที่สนใจ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาก่อน เบื้องต้นจะใช้พื้นที่บริเวณตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ประมาณ 6,500 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท เริ่มวางผังที่ดินแล้ว เป็นที่ดินรัฐประมาณ 2,500 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 4,000 ไร่ เป็นพื้นที่ชาวบ้าน โดยใช้ค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อศึกษาฯ แล้วเสร็จจะเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด (Detail Design) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 68 (เม.ย.-พ.ค. 68) ใช้เวลา 1 ปี โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการเวนคืนที่ดิน

นายกีรติ กล่าวอีกว่า เนื่องจาก ทอท. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐจึงไม่สามารถเวนคืนที่ดินชาวบ้านได้เอง ต้องใช้วิธีการให้หน่วยงานรัฐ อาทิ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เวนคืนที่ดินให้ และมอบให้กรมธนารักษ์ถือครองที่ดิน จากนั้น ทอท. จะไปเช่าที่ดินกับธนารักษ์ ซึ่งวิธีการดังกล่าว เป็นวิธีที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้กับการก่อสร้างสนามบินต่างๆ ของ ทอท. อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเวนคืนที่ดินจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 69 และสามารถเริ่มก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันได้ประมาณต้นปี 70 ใช้เวลาสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 75 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ส่วนท่าอากาศยานล้านนา จะใช้พื้นที่บริเวณอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ประมาณ 6,500 ไร่ เป็นพื้นที่ชาวบ้านทั้งหมด วงเงินลงทุนประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างคำนวณค่าเวนคืนที่ดิน เบื้องต้นจะดำเนินงานในกรอบเวลาเดียวกันพร้อมกับการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน อย่างไรก็ตาม นอกจากการก่อสร้าง 2 ท่าอากาศยานแห่งใหม่แล้ว ทอท. ยังมีแผนสร้างสนามบินน้ำ (Water Aerodrom) หรือ Seaplane Terminal ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ด้วย คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท โดยจะดำเนินการพร้อมกับการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดฯ แล้วเสร็จกลางปี 68 จากนั้นปลายปี 68 จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างดำเนินการ คาดว่าจะเปิดบริการปี 72-73

นายกีรติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทภก. พร้อมแล้วที่จะให้บริการซีเพลน ซึ่งทางวิ่ง (รันเวย์) สามารถรองรับซีเพลนที่จะทำการบินขึ้น-ลง เพื่อไปยังเกาะต่างๆ ได้แล้ว เพียงแต่เวลา ทอท. ต้องเร่งหารือ และดึงดูดผู้ประกอบการสายการบิน และโรงแรมต่างๆ มาใช้บริการ โดยขณะนี้เริ่มมีเอกชนบางรายแสดงความสนใจบ้างแล้ว และมั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารรอใช้บริการซีเพลนจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารที่มีรายได้ และกำลังซื้อสูง (Luxury) กลุ่มนี้มีความต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก.