เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 67 มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนฉบับที่ 13 (91/2567) ระบุข้อความว่า ในวันที่ 7 พ.ค. 67 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. 67 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 7 พ.ค. 67

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ค. 67 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 04.30 น. วันที่ 7 พ.ค. 67 เป็นต้นมา จากภาพถ่ายเรดาร์ กรมอุตุฯ พบ กลุ่มฝน เล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณ เขตทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ ยานนาวา คลองเตย วัฒนา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ กลุ่มฝนมีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางเหนือเข้าปกคลุม คลองสามวา ธนบุรี บางรัก สาทร และบางคอแหลม

ก่อนที่เวลา 05.00 น. มีกลุ่มฝน เล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ บางขุนเทียนเขตทุ่งครุ ยานนาวา พระโขนง บางนา ประเวศ กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ กลุ่มฝนมีแนวโน้มเคลื่อนตัว ทางเหนือเข้าปกคลุม คลอง บึงกุ่ม วังทองหลาง สวนหลวง สะพานสูง ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ขณะที่ในเวลา 06.30 น. พบ กลุ่มฝน เล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณปทุมธานี นครนายก กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี เขตประเวศ สะพานสูง ลาดกระบัง บึงกุ่ม มีนบุรี คลองสามวา หนองจอก กลุ่มฝนมีแนวโน้มเคลื่อนตัว ทางเหนือเข้าปกคลุมปทุมธานี นครนายก กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี