เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการดำเนินการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นางธันยากานต์ กุลศุภกร ผอ.สาขาวิจัยและประเมินมาตรฐาน สสวท. นายอานนท์ วงศ์วิศิษฏ์รังสี ศึกษานิเทศก์ สพม.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นางสาวชามาศ ดิษฐเจริญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สบว. ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ และนายสมเจตน์ พันธ์พรม ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สพฐ. เป็นผู้ดำเนินรายการ ในการชี้แจงแนวทางและให้ความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนฯ PISA แก่ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้ง 245 เขตพื้นที่ และผู้ที่สนใจ โดยรับชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Youtube, Facebook, OBEC TV ซึ่งได้รับความสนใจเข้าร่วมชมจำนวนมากกว่า 146,000 views
.
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ระดับพื้นที่และสถานศึกษาทราบภาพรวมนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้บริหารให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษา และคุณภาพผู้เรียน อย่างแท้จริง
ซึ่งครูผู้สอนทราบแนวทางและสามารถนำชุดการพัฒนาความฉลาดรู้ไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้
เพื่อให้ครูผู้สอนนำนักเรียนเข้าไปพัฒนาการอ่านในสถานการณ์ที่หลากหลายในรูปแบบ online และ offline
แบบ Computer base test
.
โอกาสนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวว่า อยากชวนทุกคนมาสู้กับความท้าทายในการช่วยกันขับเคลื่อนการศึกษาให้มีความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ให้เด็กนักเรียนของเราทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะชีวิตในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคต ซึ่งจากผลการประเมิน PISA หรือการทดสอบภาษาอังกฤษ ที่คะแนนต่ำลงในปีที่ผ่านมา เหล่านี้เป็นความท้าทายที่เราจะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และแนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ขอให้ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อประเทศชาติและเด็กๆ นักเรียนของเรา ได้มีความรู้ความสามารถที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่มีหัวใจทุ่มเทกำลังอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะเรื่องผลการทดสอบ PISA ด้วยคะแนนที่ออกมา อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย อาจทำให้การลงทุนในประเทศลดลง ขอให้ทุกคนใส่ใจ เรียนรู้อยู่เสมอ.
“ขอให้พวกเราทุกคนยึดมั่นในหลัก 3 ท คือ ทำดี ทำได้ ทำทันที เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาของเราอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมกันพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนให้สอดคล้องกับการประเมิน PISA เพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ผมหวังว่าทุกคนจะมอบหัวใจในการร่วมกันขับเคลื่อนครั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น ให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนากระบวนการอ่าน คิดวิเคราะห์ จับประเด็น เชื่อมโยง และถ่ายทอดอย่างรู้เรื่อง บนพื้นฐานที่เป็นเหตุเป็นผล สู่การคิดอย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนของเรามีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และสร้างความเชื่อมั่นในภาพรวมของประเทศต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
.
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ด้วยการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาต้องขอบคุณผู้บริหารเขตพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษา ทั้ง 245 เขต ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญคือการนำนโยบายลงสู่พื้นที่ เพื่อจะได้นำความรู้ลงสู่ห้องเรียน ส่งตรงถึงนักเรียนต่อไป จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA สำหรับวิทยากรแกนนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ ครูแกนนำ รวม 1,425 คน และตัวแทนเทศบาล , อาชีวศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 25 คน ซึ่งสิ่งที่เห็นจากการอบรมคือครูแกนนำทุกคนมีไฟเต็มที่ พร้อมที่จะนำเครื่องมือไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนอย่างสูงสุด.
“ขอให้ทุกคนภาคภูมิใจกับการดำเนินงานขับเคลื่อนในครั้งนี้ เราจะมาร่วมกันยกระดับมาตรฐานการศึกษาทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม เพราะโอกาสของนักเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดใดๆ แต่โอกาสของนักเรียนขึ้นอยู่กับคุณครู ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเขตพื้นที่ ที่ได้ร่วมกันฝึกฝน พัฒนาการจัดการเรียนการสอน และให้การสนับสนุนในทุกๆ ด้านที่สามารถทำได้ จนสมรรถนะเกิดกับนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนว่าการศึกษาของเรามีการพัฒนาขึ้น สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆคน ในทุกเขตพื้นที่ เรามาร่วมภาคภูมิใจด้วยกันในการทำหน้าที่ของเราอย่างสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ของนักเรียนทุกคน และประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว