น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผย ในงานสัมมนา เรื่อง “รายการขยี้ข่าว สะท้อนหรือซ้ำเติมปัญหาสังคม” ว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอรายการข่าวใช้วิธีการนำเสนอแบบเร้าอารมณ์  หรือเรียกว่า รายการขยี้ข่าว ที่เน้นดราม่า มีตัวดี ตัวร้าย และมักนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาชญากรรม ข่าวชาวบ้าน เรื่องอื้อฉาวและประเด็นปุถุชนสนใจ และเน้นดึงดูดให้ดูต่อเนื่องยาวๆ ด้วยองค์ประกอบเรื่องเพศ ความรุนแรง ความแปลกประหลาด ความเชื่อแบบเหนือธรรมชาติ เป็นต้น

“จากการสำรวจเบื้องต้นของ มีเดีย อะเลิร์ท และการประมวลเพิ่มเติมจากทีม กสทช. พบว่า สองในสามของข่าวโทรทัศน์ ในปัจจุบันมีลักษณะของการขยี้ข่าว ซึ่งปรากฏทั้งในช่วงรายการข่าว หรือเป็นรายการแบบสนทนาและนำเอาคู่ขัดแย้งมาปะทะสังสรรค์กัน โดยมีผู้ดำเนินรายการกำกับเวทีรายการขยี้ข่าว นับว่ามีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำในสังคมในอีกทางหนึ่ง”

น.ส.พิรงรอง กล่าวต่อว่า รายการประเภทนี้มักจะเป็นชาวบ้าน หรือกลุ่มชนชั้นในสังคมที่รายได้และโอกาสทางสังคมน้อยกว่า มักเข้าไม่ค่อยถึงสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม การมาอยู่ในรายการแบบนี้อาจมองได้เป็นสองมุมคือ หนึ่งการสะท้อนและสองการตอกย้ำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของระบบ ขณะเดียวกันก็เป็นการนำเสนอความรุนแรงเชิงกายภาพเพื่อตอกย้ำความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ส่วนผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกจะไปดูสตรีมมิ่งก็ต้องรับชมข่าวที่ไม่สร้างสรรค์และวัฒนธรรมขยี้ชีวิตชาวบ้านต่อไป ผลสัมฤทธิ์ของทั้งหมดคือ พื้นที่สาธารณะที่หดหายไป และการผลักคนที่มีทางเลือก ไปสู่สตรีมมิ่งและออนไลน์มากขึ้นไปอีก

ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาคงต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน นอกจากกลไกตามกฎหมายและการกำกับดูแลกันเองแล้ว โดยปกติสื่อจะตอบสนองต่อกระแสสังคมที่กดดัน แต่ในขณะที่คนในสังคมบางส่วนก็ยังรับชมเนื้อหาขยี้ข่าวอยู่ อยากเรียกร้องไปยังเจ้าของสื่อว่า อย่าบีบคั้นเรื่องเรตติ้งมาก และขอเสนอ กสทช. พม. กรรมการสิทธิมนุษยชน กรมสุขภาพจิต ร่วมกำหนดเป็นวาระร่วมกันเลยว่า ข่าวอะไรที่กระทบเด็ก ต้องไม่ยอม และควรมีการเจรจากับแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้เปิดการมองเห็นให้กับสื่อคุณภาพมากขึ้น สวนทางกับคลิกเบตหรือเนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบด้านลบ