เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายสานิต ศิริวิศิษฐ์กุล หัวหน้าแผนกวิจัย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงกรณี “ศิลปินดาราเข้ามามีบทบาททางการเมือง” จากจำนวน 1,500 ราย จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าการที่ศิลปินดาราเข้าเป็นสมาชิกสังกัดพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ให้สำรวจเห็นด้วยเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล ร้อยละ 44.6 และมองว่าไม่เหมาะสม ร้อยละ 55.40

ขณะเดียวกัน ได้สำรวจถึงการที่ศิลปินดาราออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง พบว่า มีความเห็นด้วยเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ร้อยละ 42.20 และมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวน ร้อยละ 57.80 เนื่องด้วยไม่มีความเหมาะสม

เมื่อสอบถามถึงกรณีที่ศิลปินดาราเป็นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมาย เดินขบวนประท้องเรียกร้องสิทธิ พบว่า เห็นด้วยเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ร้อยละ 41.70 และไม่เห็นด้วยจำนวน ร้อยละ 58.30 โดยให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังถามถึงความเห็นว่า จะแสดงออกต่อศิลปินดาราที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคนดังกล่าวอย่างไร ซึ่งผู้ให้สำรวจให้คำตอบว่า ยังคงติดตามชื่นชมเหมือนเดิมเพราะการแสดงออกทางการเมืองเป็นคนละส่วนกันกับการแสดง จำนวน ร้อยละ 47.60 และในส่วนอีก ร้อยละ 52.4 ให้คำตอบว่าจะเลิกติดตาม เพราะศิลปินดาราเป็นบุคคลสาธารณะควรวางตัวเป็นกลาง.