เมื่อคิดทำการใหญ่ ใจต้องถึง “นายกฯ เศรษฐา” แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ว่าจะดำเนินการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายแรงงาน และฝ่ายนายจ้าง ใน คณะกรรมการค่าจ้าง หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการไตรภาคี” เดินหน้า เป้าหมายแรกในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ คือการปรับให้เป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด

เรื่องนี้ได้สร้างความหวังให้ประชาชนว่าจะมีเงินทองมาเลี้ยงปากท้องในยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

แต่การขึ้นค่าแรงดังกล่าวกลับกลายเป็นการทยอยปรับขึ้น ต่างจากในอดีตที่มีการ ปรับขึ้นปีละครั้ง โดยในยุคนี้ หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำด้วยสูตรใหม่ และได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ให้ขึ้นค่าจ้างอีก วันละ 2-16 บาท ทำให้ ค่าจ้างสูงสุดขยับมาอยู่ที่ 370 บาท โดยมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งยังไม่ตรงเป้าของรัฐบาลที่ต้องการ 400 บาททั่วประเทศ

ผู้รับบทหนักก็หนีไม่พ้น กระทรวงแรงงาน ที่มีเจ้ากระทรวงชื่อ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ต้องรับแรงกดดันจากผู้นำรัฐบาล และต้องเจรจากับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายนายจ้าง

และแล้วเกิดการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง จนมีมติปรับค่าแรงเป็น ครั้งที่ 2 ให้ขึ้นเป็น วันละ 400 บาท ใน 10 จังหวัด (บางพื้นที่) เฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และให้มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2567 แต่ก็ไม่ตรงความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลอยู่ดี

แถมยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งจากหลายๆ องค์กรในฝ่ายแรงงานที่ร้องขอให้เพิ่มค่าจ้างสอดรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผสมโรงด้วยพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามที่ออกมาโจมตีว่า “รัฐบาลเศรษฐา” ยังไม่สามารถทำได้ตามที่ลั่นวาจาต่อรัฐสภาและต่อสาธารณชน ทั้งที่จะต้องขึ้นค่าแรงให้เท่ากันทุกพื้นที่

จนนำไปสู่การเตรียมปรับค่าแรงเป็นครั้งที่ 3 ให้เป็น วันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่เจออุปสรรคใหญ่ เพราะภาคเอกชนเกือบ 200 องค์กร ผนึกกำลังเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะดูเหมือนรัฐบาลกำลังใช้ “การเมืองแทรกแซงการปรับค่าจ้าง และจะยิ่งเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายเล็ก เอสเอ็มอี และจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ท่าทีของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่ดึงดันการปรับขึ้นค่าแรงตามเป้าหมายข้างต้น ได้ ลดทอนความเป็นอิสระ ของ “บอร์ดค่าจ้าง” และแม้จะช่วยเติมเงินในกระเป๋าของเหล่าพี่น้องผู้ใช้แรงงาน แต่การขึ้นค่าจ้างจะยิ่งเพิ่มต้นทุนในการประกอบกิจการต่างๆ ไปด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้าและบริการ

จึงถือเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องคิดให้ถ้วนถี่ เพราะหากรีบร้อนเร่งโกยคะแนนเสียงทางการเมือง อาจสร้างปัญหาอีกมากมาย ทำลายขีดความสามารถของประเทศ