เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย ถึงการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า นโยบายตนเอง และรัฐบาลชัดเจนว่าจะมีการปรับค่าแรงในวันที่ 1 ต.ค. ที่ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามไทม์ไลน์ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 22 หรือบอร์ดค่าจ้างหรือไตรภาคี ยังต้องทำตามขั้นตอน โดยให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาว่า อาชีพไหน จังหวัดใด อนุกรรมการมีใครคัดค้านหรือเห็นด้วยในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเป็นปกติที่ต้องทำตามกระบวนการ

“แต่นโยบายคือ ชัดเจนคือวันที่ 1 ต.ค. เราจะปรับเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ขอเรียนให้ทราบว่า ในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเช้ามีฝ่ายลูกจ้างมายื่นขอให้ 400 บาท และจากนั้นก็มีนายจ้าง สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และกลุ่ม SME ยื่นหนังสือและมีการนั่งประชุมหารือกัน ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษๆ หาวิธีว่า ถ้าขึ้น 400 บาท รัฐบาลจะต้องลงมาเยียวยาในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งผมเองได้ขออนุญาตนายกฯ ว่าจะขอเข้าพบรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ว่า หากมีการขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ 400 บาท รัฐหรือรัฐบาลจะดูแลเรื่องอะไรบ้าง หากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ sme ซึ่งรายละเอียดที่ต้องคุยกันต่อไป แต่นโยบายชัดเจนว่าจะขึ้น 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้” นายพิพัฒน์ กล่าว

เมื่อพิธีกรถามว่า อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะเขย่า จะสังเคราะห์และเสนอขึ้นมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ปลายทางจะต้องจบตามนั้นถูกหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ถูกต้องครับ”  เมื่อพิธีกรกล่าวต่อว่า เพียงแต่อีกด้านหนึ่งระดับรัฐบาล นายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรี จะไปคุยกันว่าจะดูแลเขาอย่างไรในกรณี หากขึ้น 400 บาท ทั่วประเทศแล้วเกิดผลกระทบ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ถูกต้องครับ” 

เมื่อพิธีกรถามต่อว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของการดูแลผลกระทบเมื่อไหร่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากอนุกรรมการค่าจ้าง ในช่วง พ.ค.–มิ.ย.นี้ เพื่อนำไปหารือว่า หาก SME กระทบหนักมากมีเรื่องอะไรบ้าง กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วอยากจะให้ภาครัฐช่วยอะไร โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดกังวลที่สุดคือขณะนี้ คือค่าแรง 400 บาท ยังไม่ทันได้ขึ้นในเดือน ต.ค. แต่ราคาสินค้าต่างๆ ขึ้นไปรออยู่แล้ว ถ้าในจุดนั้นรายงานก็จะเหมือนเดิมไม่ได้อะไรก็ต้องมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นเราต้องมองภาพรวมในทุกมิติ ว่า ฝ่ายนายจ้างต้องอยู่ได้ ลูกจ้างก็ต้องเดินหน้าไปได้ เรื่องนี้เป็นปกติเหมือนไก่กับไข่ไม่ทราบใครมาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามปกติ การพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ต้องมีการพิจารณาตามสูตรการคำนวณค่าจ้างที่กำหนด โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการไตรภาคีนั้นจะประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีกรรมการฝ่ายนายจ้าง กรรมการฝ่ายลูกจ้าง ตามรูปแบบการพิจารณา จะต้องผ่านขั้นตอนอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณาว่า ในพื้นที่จังหวัดของตนเองนั้น เหมาะสมที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างฯ ในอัตราเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อสรุปตัวเลข ก็จะส่งเข้าอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง ถ้าอนุกรรมการวิชาการฯ เห็นว่าเหมาะสมแล้วก็จะส่งเข้าสู่ที่ประชุมไตรภาคี เพื่อพิจารณา เคาะสรุปอัตราค่าจ้างจังหวัดที่จะมีการปรับเพิ่ม แล้วส่งให้ รมว.แรงงงาน พิจารณาส่งเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบ ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้.