ย้อนรอยสงครามกีดกันทางการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐกับจีน กำลังกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากที่มีการผ่อนคลายความตึงเครียดไปช่วงหนึ่ง ล่าสุดทั้งสองประเทศมหาอำนาจได้ประกาศใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติมที่อาจนำไปสู่การตอบโต้ซึ่งกันและกัน

จากกรณีนี้จึงเป็นที่มาให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาเตือนไทยให้เฝ้าระวังผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐที่มีต่อจีน โดยเฉพาะสินค้าจีนที่อาจจะทะลักเข้าไทย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นมาตรการกีดกันทางการค้ามีความเข้มข้นสูง

สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ในอดีตจนล่าสุด มีอะไรบ้าง?

  • ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 สหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า อะลูมิเนียม เครื่องซักผ้าและแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 สหรัฐ เก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับรายการสินค้าต่างๆ มูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (มาตรการดังกล่าวมีการยกเว้นในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563)
  • ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 สหรัฐ สั่งปรับบริษัท ZTE บริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคมสัญชาติจีนในข้อหาภัยคุกคามความมั่นคง
  • ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จีนเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐและตอบโต้การทุ่มตลาด
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 5-10% ในสินค้ามูลค่ารวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 สหรัฐ ขยายระยะเวลาห้ามลงทุนในบริษัทจีนมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงด้านการทหารของจีน
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สหรัฐ ออกหมาย Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors and Science Act และ Inflation Reduction Act เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งออกชิปและเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงไปยังจีน
  • ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 รัฐบาลจีนจำกัดการส่งออกแร่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
  • ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 สหรัฐ จะออกกฎหมายจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงแห่งชาติซึ่งบังคับให้บริษัทไบท์แดนซ์ (ByteDance) ขายหุ้นติ๊กต็อก ทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่งปี และการดำเนินมาตรการ 301 ว่าด้วยการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเพื่อปรับขึ้นภาษี 8 รายการสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียม เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนแบตเตอรี่ แร่ธาตุสำคัญ แผงพลังงานอาทิตย์ ปั้นจั่นยกตู้สินค้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศความร้อนระอุของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ ดูจะไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในเร็วๆ นี้ เพราะทั้ง 2 ชาติ สหรัฐและจีน ต่างยืนกรานในจุดยืนของตนเอง ทำให้ไทยต้องเตรียมรับมือสินค้าจีนอาจทะลักเข้ามาในไทย ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตไทยได้รับผลกระทบได้!

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (งานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67)