โดย “จุฬา สุขมานพ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ร่วมกับนายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอปลวกแดง จ.ระยอง นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และนางพัทธกานต์ วัฒนสหโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ อ.ปลวกแดง เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี

ทั้งนี้ได้นำร่องศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อเป็นตัวแทนอีอีซี ในระดับชุมชนสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้แก่ชุมชนในอำเภอปลวกแดง และเป็นโซ่ข้อกลางในการประสานการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี ขยายความว่า ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญ เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่ในพื้นที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้งกลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะร่วมเป็นแกนกลางในการผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยศูนย์เครือข่ายพลังสตรี ที่อำเภอปลวกแดงแห่งนี้ จะร่วมกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณะในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่อีอีซี ได้มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงานในพื้นที่อีอีซี ต่อไป

ปัจจุบัน อีอีซี ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่องในชุมชน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และชมรม
ผู้สูงอายุดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลดอยร็อต ต.หมอนทอง อ.บางนํ้าเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา มีเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี รวมกว่า 600 คน เป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่และชุมชน รวมทั้งได้ร่วมกับอีอีซี ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนรายได้ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง.