หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 เพื่อดำเนินโครงการ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” เนื่องจากไม่สามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขึ้นมาราว 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณก้อนนี้ จะตั้งไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 

สำหรับไทม์ไลน์ ปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การทบทวนและวางแผนงบประมาณ

วันที่ 21 พ.ค. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบปฏิทินงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567

วันที่ 23-27 พ.ค. 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (กนร.) ปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง และนำเสนอ ครม.

วันที่ 28 พ.ค. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง

วันที่ 29-31 พ.ค. 2567 กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันทบทวนการประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และนำเสนอ ครม.

วันที่ 4 มิ.ย. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567

  • การจัดทำงบประมาณ

วันที่ 5-6 มิ.ย. 2567 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 ที่แสดงวัตถุประสงค์ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงรับงบประมาณเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน โครงสร้างงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับ 142 ประเด็นความต้องการของประชาชน รวมทั้งนำรายงานที่เกี่ยวข้องกับเงินนอกงบประมาณ เพื่อใช้การทำรายละเอียดคำของบประมาณ เสนอนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี เจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสำนำงบประมาณภายในวันที่ 6 มิ.ย. 67 

วันที่ 7-11 มิ.ย. 2567 สำนักงบประมาณ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และนำเสนอ ครม.

วันที่ 18 มิ.ย. 2567 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และมอบให้สำนักงบประมาณไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567

วันที่ 19-25 มิ.ย. 2567 สำนักงบประมาณ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567

วันที่ 2 ก.ค. 2567 ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และให้สำนักงบประมาณ จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ

วันที่ 3-5 ก.ค. 2567 สำนักงบประมาณ ดำเนินการจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณ

วันที่ 9 ก.ค. 2567 คณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบ งบประมาณ และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร

  • การพิจารณาโดยสภา

วันที่ 17-18 ก.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1

วันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2-3

วันที่ 6 ส.ค. 67 วุฒิสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 2-3 

วันที่ 13 ส.ค. 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ปฏิทินงบ 2567 เพิ่มเติม จะนำมาใช้แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ทันตามกรอบเวลาเดิม คือ เริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (เดือน ก.ค.-ก.ย. 2567) และเริ่มใช้สิทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 (เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567)