เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ผู้ข่าวรายงานภารกิจวันสุดท้าย ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการเดินทางเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค. ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเวลา 09.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ที่ห้องฟูจิ โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายกฯ เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 และกล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “Asian Leadership in an Uncertain World” (การเป็นผู้นำของเอเชียในบริบทโลกที่มีความผันผวน)

โดยนายกฯ กล่าวยินดีกับการร่วมประชุม Nikkei Forum Future of Asia เป็นครั้งแรกในปีนี้ ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายครั้งใหญ่ จึงเป็นโอกาสสำหรับภูมิภาคที่จะมีบทบาท พร้อมนำเสนอความท้าทายเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ 3 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้ ความท้าทายแรก ภูมิภาคเอเชียเปรียบเสมือนจุดสมดุล ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามหาอำนาจ พยายามรักษาความสมดุลที่เหมาะสมในการดำเนินความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนที่มุ่งมั่นรักษาความเป็นแกนกลางและดำเนินความร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งจากสถานการณ์ในเมียนมา ไต้หวัน หรือทะเลจีนใต้ ตลอดจนความความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง 

‘นายกฯ’ โชว์วิชั่นเวที ‘Nikkei Forum’ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แม้จะมีความท้าทายแต่เป้าหมายสำคัญที่ทุกฝ่ายควรมี คือนำความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวมาสู่ประชาชน รวมถึงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แม้อาเซียนจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่อาเซียนมีจุดยืนที่ยังคงระมัดระวัง (ASEAN doesn’t take sides, it doesn’t mean we do not take a stand) และต้องมุ่งมั่นที่จะปกป้องผลประโยชน์บนความเชื่อพื้นฐาน เช่น สถานการณ์ในเมียนมา อาเซียนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิด สันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ พร้อมอยากเห็นเมียนมากลับมาบนเส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ไทยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่าง ๆ และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และพันธมิตรอื่น ๆ รวมถึงยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวเมียนมาตามแนว ชายแดนของไทย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เอเชียสามารถเป็นผู้นำผ่านความพยายามร่วมกันและเสียงที่เป็นเอกภาพ เพราะเมื่อรวมกันแล้ว เสียงของเราจะดังที่สุด (Because together, we speak loudest)

นายกฯ กล่าวอีกว่า ความท้าทายที่สอง มีหลายคนกล่าวว่าความร่วมมือ พหุภาคีและโลกาภิวัฒน์กำลังลดลง มหาอำนาจแข่งขันกันเอง ซึ่งนายกรัฐมนตรียังมองเห็นโอกาส ฟื้นคืนจิตวิญญาณของความร่วมมือ และโอกาส เสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค และระหว่างภูมิภาคที่เปิดกว้างและมองไปยังโลกภายนอก ซึ่งประเทศในเอเชียควรร่วมมือกันและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

และความท้าทายที่สาม โลกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things AI เทคโนโลยีทางการเงิน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ บล็อกเชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวข้ามขอบเขต ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือความเสียหาย ต้องเตรียมคนให้พร้อม ต้องสร้างสมดุล ทั้งส่งเสริมการศึกษาในระบบ เพิ่มทักษะความรู้ด้านดิจิทัล รวมถึงออกกฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมนวัตกรรม

นายกฯ เสนอ 3 แนวทางนำความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองสู่อาเซียน 

ในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวเน้นย้ำว่า เอเชียจะต้องรักษาบทบาทนำร่วมกัน เพื่อจุดประกายการเติบโต และฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระบบโลก ซึ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งในยุค Asian Century ขณะนี้ถึงเวลาสู่การปฏิบัติ พร้อมขอให้มั่นใจว่าไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไทยจะยืนเคียงข้างญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้น นายกฯ พร้อมคณะออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ด้วยเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน Boeing 787-8 เที่ยวบินพิเศษที่ TG 8847 กลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลาประมาณ 16.00 น. ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารของนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ในการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอิตาลี และประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15-24 พ.ค. รวมเวลา 10 วัน.