เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราหนีไม่พ้น “ไลฟ์สไตล์ชีวิตดิจิทัล” เพราะจากข้อมูล ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในประเทศไทย ประจำปี 2565 พบว่า ชีวิตคนไทยก็อยู่กับดิจิทัลเกาะติดหน้าจอมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน จนทำให้ไทยเรากลายเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 5 อันดับของโลก ที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากที่สุด

เมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ จะทำอย่างไร ไม่ใช่การใช้งานจนมากเกินความจำเป็น ที่อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งทางกายและทางจิตใจ เรียกว่า แทนที่จะสุขแต่กลับทุกข์มากขึ้น ตามมา?

วันนี้ มีวิธี “บาลานซ์ชีวิตดิจิทัล” จาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า มาแนะนำ โดยก่อนอื่นต้องมารู้จัก “Digital Detox” กันก่อนว่าคืออะไร

โดย Digital Detox คือ กิจกรรมของการบำบัดอาการเสพติดเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ต การใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยวิธีการ “พัก” หรือ “เว้น” จากการใช้งานชั่วคราว แล้วหันมาทำกิจกรรมอื่นๆ แทน เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ที่ตัดขาดจากโลกออนไลน์และเครื่องมือเทคโนโลยีทุกชนิด

จากการศึกษาพบว่า “การใช้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกระตุ้นของการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด” เพราะปกติมนุษย์มีการหลั่งฮอร์โมนความสุขอยู่ประมาณ 2-3 ชนิด คือ ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ผู้คนมีการสัมผัสกัน เช่น การกอด หรือมีการพูดคุยกันต่อหน้า ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ที่จะช่วยให้ผู้คนหลับสบายคลายเครียด

ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะเกิดขึ้นขณะที่เราใช้ชีวิตบนโลกความจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ถ้าหากทุกคนใส่ใจหันมาเริ่มต้นทำ Digital Detox ได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงช่วยลดปริมาณฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดลง แต่ยังส่งผลดีต่อเราในระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาอนาคต Digital Well-Being ของคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยศูนย์ ETDA Foresight  ของเอ็ตด้า ล่าสุดพบภาพฉากทัศน์อนาคตทั้งในภาพที่ดีและน่าเป็นห่วงหลากหลายประเด็น โดยภาพฉากทัศน์อนาคตที่น่าเป็นห่วงและอาจจะเกิดขึ้น คือ ผู้คนเกิดอาการปวดคอบ่าไหล่ รวมถึง โรคโนโมโฟเบีย (Nomophobia) หรือโรคกลัวการขาดมือถือ

ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางสุขภาพจิต (Mental Health) เกิดความเครียด กังวลมากเกินจริง ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง จากภาวะหมดไฟ (Burnout) และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ที่สำคัญ โซเชียลมีเดียอาจมีผลทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายขึ้นจากการหลั่งไหลของข้อมูลต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาเรา และเมื่อเราเปิดดูข้อมูลแบบไหนอัลกอริทึม (Algorithm) ก็จะนำเสนอเนื้อหาแบบนั้นๆ ให้เรามากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องค้นหาเลย

ในอนาคต Digital Detox จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้จักและคุ้นชิน และจะเป็นเครื่องมือแห่งการรักษาสมดุล ระหว่างชีวิตกับเทคโนโลยี (Tech-Life Balance) วันนี้คงไม่ใช่แค่เทรนด์ หรือ กระแส ที่หนุ่มสาวคนออฟฟิศใช้พักกายใจอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ชีวิตเราจะต้องมีและคุ้นเคย เพื่อสร้างสุขอย่างสมดุลที่เหมาะสมให้กับชีวิตดิจิทัลในระยะยาว

สิ่งสำคัญที่สุดของการ “บาลานซ์ชีวิตดิจิทัล”  คือ “สติในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัล” ต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่า ณ ตอนนี้เรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เช่น เรากำลังใช้ชีวิตดิจิทัล ท่องโลกออนไลน์ เพื่อเข้ามาทำงาน หาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้งานของเรามีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ต่อมาคือ “ใช้ชีวิตดิจิทัลและชีวิตจริง บนสัดส่วนแบบ 50:50” ไม่ใช้ชีวิตออนไลน์จนมากเกินไป หรือจะไม่ใช้เลยก็ไม่ได้ แต่ต้องใช้อย่างพอดี ต้องคอยรักษาให้สมดุลกัน โดยต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตดิจิทัล เพื่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เราคุ้นชิน

นอกจากนี้ “เวลาชีวิตเรามีค่าต้องเลือกเปิดรับสื่อที่ดี สร้างสรรค์ มากกว่าแค่ความบันเทิง” และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ “เราต้องมีช่วงของการเว้นพัก งด ชีวิตดิจิทัล” มีช่วงเวลาของการหยุดท่องโลกออนไลน์บ้างในแต่ละวัน เพื่อให้เราได้มีเวลาในการอยู่กับตัวเอง กับครอบครัว คนใกล้ชิด พักสมองจากเนื้อหาบนโลกออนไลน์บ้าง อย่างน้อยๆ ก็วันละ 1-2 ชั่วโมง

แค่นี้ก็ทำให้เราได้รีเฟรชพร้อมเริ่มต้นใหม่ในทุกวัน อย่างมีคุณภาพและมีความสุขยิ่งขึ้นด้วย