เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (US CDC) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าติดเชื้อจากโคนมในฟาร์มเป็นรายที่ 2 ของประเทศ ส่วนรายแรกพบติดเชื้อจากโคนม ที่รัฐเท็กซัส 1 เม.ย.2567 โดยแม้ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 แม้จะพบได้ยาก แต่ถือเป็นกรณีแรกที่มีแนวโน้มว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถแพร่เชื้อไปยังคนได้ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดนกในประเทศไทย พบการระบาดครั้งสุดท้ายในคนเมื่อปี 2547 หลังจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องทั้งในคน สัตว์ และสัตว์ป่า รวมทั้งติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคดังกล่าวในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด

“หลังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อจากฟาร์มโคนมที่สหรัฐ ทางกรมควบคุมโรคได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ทราบว่า ประเทศไทยไม่มีการนำเข้าโคนมจากสหรัฐอเมริกา จึงประเมินได้ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกจากสถานการณ์ดังกล่าวในระดับต่ำ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย กรมควบคุมโรค ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการดังนี้ 1. กรมควบคุมโรค มีความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา เพื่อเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 2. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค เพื่อพิจารณามาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3.ประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) เพื่อหารือและเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำต่อไป

ด้าน นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกมานาน แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนและสัตว์อย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันตนเอง ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย 2.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยเฉพาะหลังสัมผัสกับสัตว์ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก ขณะใกล้ชิดกับสัตว์ 3.หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใกล้บ้านทันที และสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด 4. ห้ามนำสัตว์ปีกป่วยตายมาปรุงอาหารเด็ดขาด 5. การรับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ต้องปรุงสุกสะอาด 6. หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ ไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย หรือมีตาแดงอักเสบ หลังสัมผัสกับสัตว์หรือสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมกับแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ให้แพทย์ทราบ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค.