รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่มีที่มาจากอินเดีย (เดลต้า) ที่มีการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์หลักในไทยเดิม (สายพันธ์ุแอลฟา (อังกฤษ)) ส่งผลให้สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ขณะที่เริ่มมีการปูพรมฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมาแต่สถานการณ์การฉีดวัคซีนยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าในช่วงเดือน มิ.ย.จะมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐทั้งโครงการเราชนะ และ ม33เรารักกัน รวมถึงมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ฉุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนให้ปรับลดลงอยู่ที่ 36.7 จาก 37.3 ในเดือน พ.ค. และต่ำกว่าเดือน ม.ค. ที่ 37.2

ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 38.9 จาก 39.4 ในเดือน พ.ค. สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพจากสถานการณ์การแพร่ระยาดสอดคล้องกับไปกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานที่ระบุว่าในเดือน พ.ค.เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในดัชนีเพิ่มเติมพบว่ามุมมองเกี่ยวกับรายได้ปรับลดลงจากเดือนก่อนอย่างมากอยู่ที่ 41.4 จาก 42.4 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานในองค์ที่ระบุว่า แม้องค์กรส่วนใหญ่จะเลิกจ้างลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ทำให้รายได้พนักงานมีแนวโน้มลดลง เช่น การปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้าง และการลดเวลาทำงานล่วงเวลา

โดยสอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 1/2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่ามีผู้ที่มีงานทำลดลงอยู่ที่ 37.85 ล้านคน จาก 38.29 ล้านในไตรมาส 4/2563 โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในรอบสัปดาห์ที่สำรวจ (มีงานประจำหรือมีงานที่จะกลับไปทำ) เพิ่มขึ้นจากในเดือน ธ.ค. 63 ที่ 5.9 แสนคน มาอยู่ที่ 8.8 แสนคน  และในจำนวนนี้มีผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้างอยู่ถึง 7.8 แสนคน สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงระดับรายได้ของครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อระดับการใช้จ่ายของครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนหรือไม่อย่างไรซึ่งผลสำรวจระบุว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (51.2%) ของครัวเรือนที่ตอบแบบสอบถามมีรายได้ที่ลดลงและมีผลกระทบต่อกำลังซื้อหรือพฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยวิธีที่ใช้รับมือกับสถานการณ์การปรับตัวลดลงของรายได้คือเริ่มมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง (47.7%) อีกทั้งมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในขนาดที่เล็กลง (22.7%)

ในระยะข้างหน้าดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้จะยังกดดันตลาดแรงงานและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนต่อเนื่อง หากสถานการณ์การระบาดยังมีแนวโน้มบานปลายต่อไปจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและความเชื่อมั่นของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนั้นปัจจุบันภาครัฐควรมีความชัดเจนในมาตรการควบคุมการระบาดต่าง ๆ รวมถึงออกมาตรการเยียวยาผลกระทบแก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน ควบคู่ไปกับการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว