นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เตรียมตั้งคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้นโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริง กับรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสีทุกสายตามเป้าหมายในเดือน ก.ย. 68 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66 กระทรวงคมนาคม นำร่องมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าแล้ว 2 สาย ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การมีคณะทำงาน และมอบหมายแบ่งกันติดตามดูแลรายละเอียดในแต่ละเรื่องว่าติดตรงไหน อย่างไร จะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น อาทิ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการจัดหาเงินเข้ากองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะร่างกฎหมายตั๋วร่วม ต้องพยายามผลักดันให้มีผลบังคับใช้ก่อนเดือน ก.ย. 68 เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการดำเนินงาน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งเวลานี้การผลักดันร่างกฎหมายอาจล่าช้าไปประมาณ 1 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่ากว่ากฎหมายแต่ละฉบับ จะมีผลบังคับใช้ได้ ต้องผ่านหลายกระบวนการ ทั้งการตรวจร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งจากที่ตนประสานขอหารือกับ สคก. ระบุว่าต้องใช้เวลาตรวจประมาณ 4 เดือน โดยตนเกรงว่าจะช้าเกินไป และไม่ทันกับเป้าหมายที่วางไว้ ทาง สคก. ก็รับจะช่วยเร่งรัดในการดำเนินการให้ ขณะเดียวกันต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวต่อไป
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือน ก.ย. 68 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ ทั้งนี้จากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายตั้งแต่เดือน ก.ย. 68 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8 พันล้านบาท หรือ 2 ปี ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นเงินที่จะสมทบเข้ากองทุนฯ ตั๋วร่วม จะนำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มาสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยทาง รฟม. ก็ยินดี
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะหาเงินสมทบจากแหล่งเงินอื่นด้วย อาทิ กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ตั๋วร่วม ไม่น่ามีปัญหา โดยเงินในส่วนของ รฟม. ทางกระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบกับ สคก. แล้วว่า สามารถดำเนินการได้ แต่จะมีปัญหาว่า หากร่างกฎหมายตั๋วร่วม ยังไม่ประกาศใช้ จะไม่สามารถนำเงิน รฟม. มาใช้สนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ จะใช้เงินดังกล่าวได้กับรถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีคณะทำงาน เพื่อเข้าไปเร่งรัดในรายละเอียดต่างๆ ทุกจุดให้กฎหมายประกาศใช้โดยเร็ว โดยหากพบว่ายังมีปัญหาจุดใด ตนจะได้เข้าไปช่วยเร่งรัด และแก้ปัญหา.