เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับนายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ร่วมแถลง เปิดเผยถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศไทย
นายชูฉัตร เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อธุรกิจประกันในภาพรวม โดยขณะนี้ คปภ. บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่ง ได้เปิดศูนย์บริการความช่วยเหลือ 24 ชม. และการบริการผ่านระบบโซเชียลมีเดียด้วย พร้อมกับเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบสำรวจภัย จึงขอให้มั่นใจว่า ผู้เอาประภัยจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไข เพราะจากการตรวจสอบดัชนีความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย ยังแข็งแกร่งมาก มีเงินกองทุนสูงเกือบ 300% มากกว่าที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำที่ 100%
ส่วนเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักรพังถล่มลงมานั้น สำนักงานคปภ.และ 4 บริษัทประกันที่ร่วมรับประกัน ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายร่วมกัน โดยยืนยันว่าความเสียหายนี้ จะไม่กระทบความมั่นคงของ 4 บริษัทประกันที่ร่วมรับประกัน เนื่องจากบริษัทประกันทั้งหมด ได้มีการบริหารความเสี่ยง ทั้งการประกันภัยต่อต่างประเทศ และมีความคุ้มครองของที่เป็นความรับผิดชอบส่วนแรก โดยผู้เอาประกันรับผิดชอบเองสัดส่วน 20%
สำหรับประเด็นที่สังคมสงสัยว่ามีการก่อสร้างผิดแบบหรือไม่นั้น นายชูฉัตรกล่าวว่า จะต้องรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน โดยรับรองจากสภาวิชาชีพวิศวกรรมในการประเมิน และต้องมีหน่วยงานภาครัฐมายืนยัน หากพบข้อเท็จจริงว่า มีการสร้างไม่ถูกต้องตามแบบ บริษัทประกันจะไม่ให้ความคุ้มครอง เพราะอยู่ในข้อยกเว้นของสัญญาประกันภัย
นายสมพร นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ทั้งประเทศมีจำนวน 194,389 ฉบับ แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 95,372 ฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 99,017 ฉบับ มีทุนประกันกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่การทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ปัจจุบันมีจำนวนทั่วประเทศ 5.37 ล้านฉบับ แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.23 ล้านฉบับ และจังหวัดอื่น ๆ 3.14 ล้านฉบับ โดยในกรณีที่อยู่อาศัยที่ทำประกันอัคคีภัย ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาท และหากผู้เอาประกันตกลงค่าสินไหมตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด ได้ จะต้องจ่ายภายใน 15 วัน
ส่วนผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ที่ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง ตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด
สำหรับแนวทางการเรียกเคลมค่าสินไหมจากเหตุแผ่นดินไหว สมาคมขอแนะนำว่า หากเป็นพักอยู่อาศัย บ้าน คอนโดมีเนียม ให้มีการถ่ายรูปความเสียหาย รวบรวมไว้ที่นิติบุคคล ส่งให้บริษัทประกันภัยต่อไปหรือแจ้งมาที่บริษัทประกันภัยได้โดยตรง รวมถึงประชาชนที่ที่พักเสียหายและเสี่ยงเกิดอันตราย สามารถดำเนินการซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการประเมินจากประกัน แต่ต้องมีการบันทึกภาพความเสียหาย ไว้ประกอบการขอชดเชย
นางนุสรา นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า 20 บริษัทสมาชิกฯได้มีการบริการ ผ่านคอลเซ็นเตอร์ และดิจิทัล เช่น เฟชบุ๊กและไลน์ ให้บริการ 24 ชม. สำหรับความคุ้มครองประกันชีวิต อุบัติเหตุและสุขภาพ ทั้งผู้รับเหมาหลัก และรับเหมาร่วม และประชาชนผู้ประสบภัย ส่วนของผู้ประสบภัยตึกย่านจตุจักรถล่ม เรายังไม่เจอประกันกลุ่มกับประกันชีวิต แต่เรากำลังเร่งตรวจสอบรายชื่ออยู่