สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า นายพอล ชาเพอร์ ผู้อำนวยการบริหารด้านนโยบายต่างประเทศของบริษัทเมอร์ค กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานของยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่ามีการวางแผนเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลานานมากก่อนที่เมอร์คและพันธมิตร คือ บริษัทริดจ์แบค ไบโอเทอราพิวติกส์ ประกาศผลการทดสอบทางคลินิกระยะสุดท้ายของยาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ เมอร์คยังคงยืนยันเป้าหมายการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้ได้ 10 ล้านชุดภายในปีนี้ และเพิ่มอีก 2 เท่าภายในปี 2565 ขณะที่ราคาจำหน่ายจะเป็นไปตามศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อ้างอิงตามข้อมูลจากธนาคารโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) โดยมีรายงานว่า เมอร์คขายยาโมลนูพิราเวียร์ให้รัฐบาลวอชิงตัน ในราคาชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 23,002 บาท ) ซึ่ง 1 ชุดประกอบด้วยยา 40 เม็ด รับประทานติดต่อกัน 5 วัน วันละ 8 เม็ด แบ่งเป็นมื้อละ 4 เม็ด


ขณะเดียวกัน เมอร์คและริดจ์แบคยังบรรลุข้อตกลงกับองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม ( เอ็มพีพี ) ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในการอนุญาตให้กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จำนวน 105 ประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกร่วมกัน ได้รับสิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ โดยทั้ง 105 ประเทศ จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ตามข้อตกลง และไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ยังคงให้โรคโควิด-19 มีสถานะเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”


นอกจากนี้ มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ร่วมสมทบทุนให้กับการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ อีก 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 3,943.20 ล้านบาท ) ซึ่งผู้บริหารของเมอร์คมองว่า ความสนับสนุนทั้งหมดจะช่วยให้ทุกประเทศมีโอกาสเข้าถึงยาโมลนูพิราเวียร์ได้อย่างเท่าเทียม “และภายในเวลาเดียวกัน”


อนึ่ง ชาเพอร์ทิ้งท้ายว่า แน่นอนว่า วัคซีนยังคงถือเป็น “พื้นฐาน” ของภารกิจตอบสนองต่อโรคโควิด-19 แต่กระบวนการรักษาแบบอื่นจำเป็นต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะกับประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนยังอยู่ในระดับต่ำ หรือเข้าถึงวัคซีนได้ยาก.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES