เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า “11 ธันวาคม 2564…ทะลุ 269 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 587,059 คน ตายเพิ่ม 7,141 คน รวมแล้วติดไปรวม 269,375,289 คน เสียชีวิตรวม 5,310,650 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย และโปแลนด์
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.65 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.06 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 56.64 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 56.18 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,193 คน สูงเป็นอันดับ 25 ของโลก หากรวม ATK อีก 1,546 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 21 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย
อัพเดตเรื่อง Omicron Wenseleers T ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของการตรวจพบ Omicron ของแต่ละประเทศ ทั้งแอฟริกาใต้ อังกฤษ สกอตแลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม สะท้อนให้เห็นว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย slope ก็พอๆ กันในทุกประเทศ ล่าสุดเมื่อวานนี้ 10 ธันวาคม 2564 ทาง UK Health Security Agency ออกรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับ Omicron โดยทบทวนความรู้จากการวิจัยที่ออกมา มีสาระสำคัญดังนี้
1. การแพร่เชื้อในครัวเรือน (Household transmission) การระบาดของ Omicron จะมีโอกาสเกิดการแพร่เชื้อกันในครัวเรือน มากกว่าเดลต้าถึง 3.2 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.0-5.0) จากข้อมูลการติดตามสอบสวนโรค พบว่า โอกาสที่คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นมา (Secondary attack rate) มีมากกว่าเดลต้า 2.09 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.54-2.79) ทั้งนี้ในการระบาดของ Omicron ผู้ใกล้ชิดมีโอกาสติดเชื้อ 21.6% ส่วนเดลต้า 10.7%
2. การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection) สายพันธุ์ Omicron จะมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน มากกว่าเดลต้า 3-8 เท่า
3. การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน จากการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกที่เผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า Omicron จะหลบหลีกหรือดื้อต่อภูมิคุ้มกัน มากกว่าเดลต้า 20-40 เท่า จากข้อมูลของ UK เอง พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน ChAdOx1 2 เข็ม และ BNT162b2 2 เข็มนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (Symptomatic infection) สำหรับเดลต้า
แต่สำหรับ Omicron นั้น พบว่า หลังฉีดวัคซีนไปเกิน 3.5 เดือน กลุ่มที่ได้ ChAdOx1 2 เข็มอาจไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนกลุ่มที่ได้ BNT162b2 2 เข็มนั้นพบว่ามีประสิทธิภาพเหลือราว 30% เท่านั้น (ทั้งนี้การแปลผลดังกล่าวในกลุ่ม ChAdOx1 ต้องระมัดระวังเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่มาก และค่อนไปทางกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่อาจมากกว่ากลุ่ม BNT162b2)
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วย mRNA vaccine (BNT162b2) จะช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ราว 70-75% (แต่ข้อมูลการติดตามผลยังมีจำกัดเฉพาะแค่ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังฉีดเข็มกระตุ้น) ข้อมูลข้างต้น จึงชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน
4. การระบาดของ Omicron ใน UK มีการขยายตัวเร็ว โดยมีค่า R ราว 3.7 (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.3-4.2) และลักษณะการติดเชื้อก็สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ โดยติดกันมากในวัยทำงานและวัยเรียน ทั้งเพศชายและหญิง
5. ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับลักษณะการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตของ Omicron จำเป็นต้องติดตามต่อไปอีกระยะ
สำหรับไทยเรา บทเรียนของต่างประเทศสะท้อนให้เราระมัดระวังการแพร่ระบาดของ Omicron โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงาน และวัยเรียน เพราะเป็นช่วงอายุที่มีการพบปะกับคนอื่นๆ จำนวนมากในแต่ละวัน คนที่ได้วัคซีนไปแล้ว จำเป็นต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งควรเป็น mRNA vaccine เพราะดูจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของสากลที่พิสูจน์ให้เห็น ระบบการตรวจคัดกรองโรคและการกักตัวนั้นสำคัญมากในการชะลอการระบาดจากต่างประเทศเข้ามา
แต่ระบบการตรวจคัดกรองโรคและการเข้าถึงบริการสำหรับประชาชนทุกคนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดในประเทศหากเกิดขึ้นในอนาคต เหนืออื่นใด ที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว การไปในที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี และเลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์ครับ ด้วยรักและห่วงใย”