เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฟอกเงินการทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หมายเลขดำ อท.520/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสังคม สังฆะพัฒน์ อายุ 50 ปี หรือ อดีตพระเมธีสุทธิกร หรือ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, นายเทอด วงศ์ชอุ่ม อายุ 50 ปี หรือ อดีตพระวิจิตรธรรมาภรณ์ หรือ เจ้าคุณเทอด อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และนายทวิช สังข์อยู่ อายุ 46 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับ บริษัท ดีดีทวีคูณ ที่รับผลิตสื่อให้กับวัดสระเกศฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงินฯตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 10, 60 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23,45 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

คดีนี้ อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องกรณีที่มีการทุจริตเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 10 ล้านบาท ให้วัดสระเกศฯ จากงบประมาณปี 2557 ทั้งหมด 72 ล้านบาท ทั้งที่วัดสระเกศฯ ไม่มีโรงเรียนแผนกสามัญศึกษา จึงไม่มีสิทธิได้รับงบนี้ โดยอดีตพระทั้ง 2 รูป ที่มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้ร่วมกันลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีวัดสระเกศฯ โดยมีนายทวิช จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจ เมื่อปี 2558 ไปใช้ในกิจการอื่น ทั้งที่เป็นงบประมาณแผนสำหรับอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

คุก6ปี24ด.อดีตผช.เจ้าวัดสระเกศ ฟอกเงินรร.พระปริยัติธรรม15ล้าน

ต่อมา โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1-2 เป็นพระสงฆ์ จำเลยที่ 1 มีสมณศักดิ์ชื่อพระเมธีสุทธิกร จำเลยที่ 2 มีสมณศักดิ์ชื่อพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าอาวาสดูแลบำรุงรักษาวัด และจัดกิจการศาสนสมบัติของวัด ตลอดจนปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่อยู่หรือพักอาศัยในวัดให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ซึ่งตำแหน่งของจำเลยที่ 1-2 เป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์จึงมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 23, 45 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 41

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นได้ พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 ปี 24 เดือน ปรับคนละ 168,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1-2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1-2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น