พระครูพิศิษฎ์ประชานาถ (ดร.หลวงพ่อแดง นันทิโย) รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา อนุกรรมการหน่วยอบรมประชาชนส่วนกลาง และเจ้าอาวาสวัดอินทาราม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่าได้ประสานนายธีรชัย สินลี้ อายุ 49 ปี เจ้าของฟาร์มผึ้งบ้านเชียงใหม่ จ.ลพบุรี ให้นำผึ้งจำนวน 200 ลัง มาปล่อยในสวนลิ้นจี่พื้นที่ ต.เหมืองใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงวัดอินทารามเพื่อช่วยในการผสมเกสรให้กับต้นลิ้นจี่ โดยทางวัดอินทารามจะรับซื้อน้ำผึ้งที่ได้ส่วนหนึ่งแล้วนำไปปลุกเสกเพื่อความเป็นสิริมงคลไว้แจกจ่ายให้กับญาติโยมที่มาทำบุญ

ทั้งนี้เนื่องจากอากาศหนาวเย็นที่ผ่านมาทำให้ลิ้นจี่ของ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ค่อมรสชาติอร่อยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกเหลืออยู่ประมาณ 5,200 ไร่ กำลังแทงช่อดอกหากติดผลทั้งหมดก็จะทำให้ได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 4 พันตัน อย่างไรก็ตามแม้ลิ้นจี่จะออกดอกแล้วแต่หากไม่ได้รับการผสมเกสร ดอกก็จะร่วงหล่นจนเหลือแต่ก้าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ก้านธูป” ดังนั้นวิธีทางธรรมชาติที่ดีที่สุดก็คือการนำผึ้งมาปล่อยในสวนเพื่อให้ผึ้งบินออกไปหาน้ำหวานจากดอกลิ้นจี่ ซึ่งจะทำให้เกสรติดขาของผึ้งไปเกาะผสมเกสรดอกลิ้นจี่ต้นอื่น โดยวางผึ้งเป็นจุดๆ เพื่อให้ผึ้งแต่ละตัวบินออกจากรังไปหาน้ำหวานได้ในรัศมีประมาณ 3 กิโลเมตร

นายธีรชัย สินลี้ เจ้าของฟาร์มผึ้งบ้านเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำผึ้งมาปล่อยในสวนลิ้นจี่ถือเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าของสวนลิ้นจี่กับเจ้าของผึ้ง เนื่องจากเจ้าของสวนลิ้นจี่จะได้ประโยชน์เพราะมีผึ้งมาช่วยผสมเกสรแบบธรรมชาติทำให้ลิ้นจี่ให้ผลผลิตมากขึ้น ส่วนผู้เลี้ยงผึ้งจะได้น้ำผึ้งลิ้นจี่ซึ่งมีรสชาติหวานหอมเป็นที่นิยมของผู้บริโภค สำหรับผึ้งของตนเป็นผึ้งพันธุ์อิตาเลียน เป็นผึ้งเลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย ตัวใหญ่ เหมาะแก่การบินไปเก็บน้ำหวานในภูมิประเทศบ้านเรา ที่สำคัญคือใน 1 วันผึ้งมีความสามารถในการผสมเกสรมากกว่าแมลงทั่งไปเป็นพันเท่า และไม่ทิ้งรัง ผิดกับผึ้งของไทยที่มักจะย้ายรังหรือทิ้งรังทันทีหากถูกรบกวน จึงไม่เหมาะแก่การนำมาเลี้ยงแบบพัฒนา ส่วนข้อดีของน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่คือมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ของอัมพวา เหมาะสำหรับรับประทานสดไม่ควรผ่านความร้อน เพราะจะทำให้คุณค่าทางโภชนาการส่วนหนึ่งหายไป.