“นายกฯ” นำทีม ครม. แถลงนโนยบาย “เศรษฐา 1”

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมบรรดา ครม. สส. สว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

จากนั้น นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้อ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า ครม. มีนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังยืดเยื้อ ฝังรากลึก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจประเทศกว่าร้อยละ 30.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ภาคส่งออกติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่า ร้อยละ 90 ของจีดีพี หนี้สาธารณะสูงกว่า ร้อยละ 61 อาจกลายเป็นข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต

พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนภาคการเกษตร ประชากรกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคที่ทำงานหนัก แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อจีดีพี ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท ส่วนด้านการเมืองมีความเห็นต่าง แบ่งแยกทางความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล ข้อกฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมือง ปัญหาทุจริต อาชญากรรม ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤติศรัทธาประชาชน กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน  สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า

นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เติมเงิน 1 หมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต จุดชนวนกระตุก ศก.

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) จะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี และจะช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

นโยบายเร่งด่วน 4 ข้อทำทันที

นายเศรษฐา ระบุว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนการเงิน สำหรับภาคประชาชน ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน จะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน 3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอวีซ่า การยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การยกระดับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ปรับปรุงสนามบิน และจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ

แก้ รธน. ปี 60-ไม่แตะหมวดสถาบัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า 4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ ที่ใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากสุดในการพัฒนาประเทศ

ทำ ศก.เชิงรุก-เกษตรกรรายได้เพิ่มภายใน 4 ปี

นายเศรษฐา กล่าวว่า ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเปิดประตูสินค้าและการบริการของประเทศสู่ตลาดใหม่ๆ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ การเร่งการเจรจากรอบความร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก ส่วนภาคการเกษตร จะสร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตร การหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นอุตสาหกรรมประมง แก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสม จะบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน มีเป้าหมายทำให้รายได้เกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 4 ปี

ฟื้นผู้ว่าซีอีโอ-ปลดล็อกสุราพื้นบ้าน

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสร้างและขยายโอกาสให้ประชาชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพ รายได้ จะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ให้นำไปต่อยอดเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึงการปลดล็อกแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับของรัฐที่เป็นข้อจำกัดของประชาชน เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้ เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้าน การบริหารรูปแบบการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ ซีอีโอ) เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานแต่ละจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ ขจัดช่องโหว่การทุจริต ลดค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Soft Power) ของประเทศ ยกระดับพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ จะสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power การปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารใช้ระบบสมัครใจ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศ จะปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัย จะร่วมพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ โดยเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง กำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องบทบาทภารกิจ ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานกระทรวงกลาโหมให้โปร่งใส ขณะที่ด้านความปลอดภัยจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัดและภาระบุคลากรทางการแพทย์ การผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

ยึดหลักซื่อสัตย์บริหารประเทศ

นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า จะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายรัฐนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาเสถียรภาพ ให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม จะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีประชาชน จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชน

“ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจ ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานของพวกเรานับจากนี้เป็นต้นไป” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้นายเศรษฐา ใช้เวลาแถลงนโยบายรัฐบาล ทั้งสิ้น จำนวน 50 นาที

จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภา ได้เริ่มอภิปรายนโยบายรัฐบาลทันที.