เป็นปัญหาใน “แวดวงอุตสาหกรรมไอที” ทั่วโลกที่ลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับการขาดแคลนชิ้นส่วน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ บางประเภท อย่างเช่น  ชิปเช็ต   การ์ดจอ  ซีพียู ฯลฯ จนส่งผลต่อจำนวน คอมพิวเตอร์พีซี และโน็ตบุ๊ค ที่แต่ละแบรนด์นำสินค้าของตนเองออกขายในตลาด

ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องชิปขาดแคลนยังส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมอื่นต่อเนื่องด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ฯลฯ ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย!!

อย่างที่รู้ๆกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุที่ประดังมาพร้อมๆ ตั้งแต่โรงงานผลิตชิป ประสบภัยพิษัติทาง ธรรมชาติ การเกิดโควิด-19  ระบาด ทำให้โรงงานบางแห่งต้องหยุดสายการผลิต แม้ปัจจุบันจะเริ่มกลับมาเดินเครื่อง เต็มกำลังแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 ระบาด คนต้องต้องเวิร์ค ฟอร์ม โฮม หรือทำงานที่บ้าน รวมถึงนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ที่บ้าน ทำให้ความต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นด้วย จึงทำให้สินค้าขาดตลาดและราคาสินค้าในตลาดสูงขึ้นอย่างน้อย 10-15%

วิกฤติเรื่องชิปเซ็ตนี้ มีการประเมินกันว่าอาจจะลากยาวไปจนถึงกลางปีหน้า ทำให้สินค้าไอทีได้รับ ผลกระทบต่อเนื่องอย่างเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นปัจจัยภายนอกเหนือการควบคุม ผู้ขายและแบรนด์สินค้าต่างๆ จึงต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

คุณนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์  บอกว่า ปัญหาการขาดแคลนแซมิคอนดัคเตอร์ หรือชิป คือผลพวงจากการนำนวัตกรรมและการใช้งานด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เพิ่มสูงมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยานยนต์ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ทั้งส่วนตัว และภายในองค์กร รวมทั้งการมาของโควิด-19 ก็ทำให้พีซีที่เคยใช้กันอยู่ 1-2  เครื่องต่อครอบครัวกลายเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อ 1 คน จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้งานชิปแฝงอยู่ในทุกพื้นที่

“ยุคนี้เรียกว่ายุคของข้อมูล  หรือ Data Era ชิปเปรียบได้กับ “น้ำมัน” ในรูปแบบใหม่ขณะที่ข้อมูลคือ ตัวขับเคลื่อนการทำงาน ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนนี้ไม่ได้กระทบเพียงภาคอุตสาหกรรมไอทีเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้กับอีกหลายๆ อุตสาหกรรมไปพร้อมกัน”

สำหรับเดลล์ เทคโนโลยีส์  ที่ผ่านมา ก็ประสบวิกฤตการขาดแคลนส่วนประกอบหลายๆ อย่างในซัพพลายเชน ของเราเป็นเวลามาเกือบสามปีแล้ว  จึงได้ปรับตัวในการทำงาน ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนธุรกิจล่วงหน้า เพื่อให้ผ่านสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามรูปแบบธุรกิจของเดลล์ ทำให้ยังมีโมเมนตัมทางธุรกิจในเชิงบวก ดูจากตัวเลขที่สามารถจัดส่งพีซีทั่วโลกได้มากกว่า 52 ล้านเครื่องในปีที่แล้ว หรือคิดเป็นประมาณ 99 เครื่องต่อนาที หรือ 1.65 เครื่องต่อวินาที

คุณนพดล บอกต่อว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและการขาดแคลนส่วนประกอบ จากหลายภาคอุตสาหกรรม ราคาต้นทุนของส่วนประกอบบางประเภทเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาในบางผลิตภัณฑ์ และต้องทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับลูกค้าองค์กร ในการปรับเปลี่ยนสำหรับคอนแทรคที่รอการส่งมอบ

“เดลล์ได้พยายามอย่างที่สุดในการใช้เครือข่ายซัพพลายเชนทั่วโลกในการวางแผนเชิงรุกล่วงหน้าเพื่อช่วยลด หรือไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้นกับลูกค้า และเชื่อมั่นว่าจาก ความร่วมมือและโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทุกภาคอุตสาหกรรม เข้ามาร่วมกันแก้ไขสถานการณ์การขาดแคลนชิป และเพิ่มกำลังการผลิตในหลายๆ ประเทศ เชื่อว่าจะนำมาซึ่งข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมทั้งหมดในองค์รวม” คุณนพดล ระบุ

บริษัทไอทีระดับโลกได้ให้มุมมองต่อสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับในส่วนของ “คนค้าคนขาย”มีมุมมองอย่างไรนั้น?

ในส่วนของ คุณจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัทแอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ที่ได้ดำเนินธุรกิจศูนย์รวมอุปกรณ์ไอทีกว่า 350 สาขาทั่วประเทศ บอกว่า สิ่งที่ร้านค้าส่วนใหญ่ทำได้ตอนนี้ก็คือ ต้องขายเฉพาะของที่มีอยู่ ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ซึ่งในส่วนของ แอดไวซ์ก็ใช้วิธีแก้ปัญหา ด้วยการปรับเปลี่ยนดิสเพลย์หน้าร้านเสนอสินค้าที่หลากหลาย หรือ สินค้าในหมวดอื่น ๆมากยิ่งขึ้น เช่น สินค้าในหมวดไอโอที ฯลฯ

รวมถึงเสนอขายคอมพิวเตอร์ที่มีระดับราคาในช่วงกลางไปถึงสูง ให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเร็วและไม่อยากรอสินค้า นอกจากนี้ก็หันไปเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าองค์กรมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

“การปรับตัวของแอดไวซ์ในช่วงนี้ คงไม่ใช่เรื่องการจัดกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อส่งเสริมการขายให้ขายได้มากขึ้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนไลน์สินค้าที่มีให้สามารถขายได้ แต่ก็จะเน้นสินค้าระดับสูงมากก็ไม่ได้ เพราะร้านแอดไวซ์ อยู่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อด้วย”
 
อย่างไรก็ตามในช่วงโควิด-19 ระบาดช่วงที่ผ่านมา แม้จำนวนยูนิตหรือจำนวนเครื่องที่ขายได้ลดลง แต่ราคาขายเฉลี่ยต่อเครื่องก็สูงมากขึ้น จากความต้องการใช้งานลูกค้ายอมจ่ายแพงมากขึ้นให้ได้สินค้าไปใช้งาน

ขณะที่ผู้บริหารของ“เอเซอร์” แบรนด์คอมพิวเตอร์ที่มีส่วนทางการตลาดอันดับ 1 ในไทย คือ คุณนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด บอกว่า ทางเอเซอร์ได้แก้ปัญหาโดยการขอสินค้าจากบริษัทแม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นตลาดที่สำคัญของเอเซอร์ จึงเจรจาได้ไม่ยาก ทำให้สินค้าขาดเป็นเพียงบางช่วงเท่านั้น นอกจากนี้ก็จะแจ้งทางร้านค้า และลูกค้าว่าสินค้ารุ่นที่ต้องการจะเข้ามาช่วงเวลาไหน ให้จองไว้ก่อน เมื่อของเข้าแล้วก็โทรฯแจ้งลูกค้า ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเข้าใจดีเพราะเป็นสถานการณ์ที่เจอกับมาเกือบปีแล้ว

อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นทางภาครัฐจะเข้ามาช่วย แก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น ทาง คุณนิธิพัทธ์ บอกว่า ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก การผลิตตั้งแต่ต้นทาง และจากปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่อาจทำให้เครื่องบิน หรือเรือขนส่งสินค้าที่น้อยลง จึงไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศไทยจะแก้ได้ฝ่ายเดียว ถือเป็นปัจจัยภายนอก  และไม่ได้เป็นปัญหาจากทางศุลกากร หรือจากประเทศไทยเลย!!

ทั้งหมดจึงเป็นการปรับตัวของทั้งผู้ผลิต และผู้จำหน่าย แต่เชื่อว่าจากความร่วมมือของทุกฝ่าย จะทำให้สถานการณ์ กลับมาดีขึ้นเร็วๆนี้.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์

ภาพส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ : pixabay.com