วันที่ 20 ก.ย.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ ผู้ร้อง น.ส.พรรณิการ์ วานิช ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านโพสต์ภาพถ่ายและ ข้อความตามคำร้องข้อ 4.1  (1) ถึง (6) ในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “Pannika Chor Wanich” ของผู้คัดค้าน ต่อมาผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในบัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน ในลักษณะเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้คัดค้านมิได้กระทำการใด ๆ หรือลบภาพ และข้อความดังกล่าวออกจากบัญชีเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์ อันเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข และเป็นการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กับเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน มีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 5ข้อ 6 และข้อ27

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนที่จะมีบทกฎหมายและมาตรฐานทาง จริยธรรม จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังเอากับผู้คัดค้านได้ และบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายใช้บังคับแก่บุคคลที่ยังดำรง ตำแหน่งอยู่ในขณะถูกร้องและดำเนินคดี แต่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผู้ร้องจึง ไม่มีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาล ขณะผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้กระทำการใด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ส่วนการที่ยังคงมีภาพถ่ายและข้อความตาม คำร้องปรากฏอยู่ไม่ถือเป็นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกาพิพากษาว่า ผู้ร้องได้รับคำร้องของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ฉบับลงวันที่ 11 มิ.ย.62 กล่าวหาว่า ผู้คัดค้านขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งขณะนั้นมีผลใช้บังคับแล้วไว้พิจารณา ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านยังดำรง ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ต่อมาผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ร้องยังคงมีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้อง คดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 (1) มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) และพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 55(3) ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 6บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1 ) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…” ผู้คัดค้านมีเชื้อชาติและสัญชาติไทย นอกจากมีหน้าที่ตามมาตรา 50 (1) อันเป็น หน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งและความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมต้องระมัดระวัง ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มิให้มีภาพถ่ายหรือข้อความพาดพิงหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวม ความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า “ในหลวง” “พ่อหลวง” หรือ “พ่อของแผ่นดิน” เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและความภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์และ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา

เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้องซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องกัน มาจึงต้องนำการกระทำของผู้คัดค้านทั้งหกกรณีมาพิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหยั่งทราบเจตนาของผู้คัดค้านว่ามุ่งประสงค์ อย่างไร การกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้อง ข้อ 4.1(1) ถึง 4.1(4) และ 4.1(6) ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านมี เจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนการกระทำตามคำร้อง ข้อ 4.1 (5) เป็นการลงข้อความพาดพิงถึงสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คัดค้านที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ ก่อนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ภายใต้ บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้คัดค้านต้อง พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นอกจากการกระทําโดยตรงแล้วยังหมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกัน ผลนั้นด้วย เมื่อผู้คัดค้านยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์บัญชีการใช้งาน เฟซบุ๊กของผู้คัดค้านในลักษณะเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้านเป็นการแสดงออก ถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 มาตรา 50(1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6การที่ผู้คัดค้านไม่ลบหรือนำภาพถ่ายและข้อความ ดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่สามารถกระทำได้เพื่อไม่ให้ปรากฏอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถ เข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา235 วรรคสามและวรรคสี่ แต่ยังฟัง ไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 จึงยังไม่เห็นสมควร เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน