ยางอินเดีย ที่นิยมกันมากในเวลานี้ เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดที่อินเดียและมาเลเซีย เป็นไม้ยืนต้นต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งแผ่กว้าง ถ้าปลูกลงดินจะสูงได้ถึง 25 เมตร เป็นต้นไม้ไม่ผลัดใบ เจริญเติบโตได้ดีในที่แจ้ง แสงแดดจัด ไม่ชอบน้ำขังแฉะ นี่คือ นิสัย และ ธรรมชาติ ของ ต้นยางอินเดีย แต่ในปัจจุบัน นิยมนำมาปลูกเลี้ยงในกระถาง วางในที่ร่ม ประดับในบ้าน และตัวอาคาร ปัญหาที่ตามมา คือ ใบเหลืองและร่วง, ต้นไม่เจริญเติบโตต่อ เรามาทำความเข้าใจ ต้นยางอินเดียให้มากขึ้น และวิธีปลูกเลี้ยงต้นไม้ ให้อยู่ในที่ร่มกัน ครับ

โดยส่วนมาก ต้นยางอินเดียที่ขายตามท้องตลาด จะมาจากการปักชำกิ่ง จะถูกเลี้ยงให้โดนแสงแดดจัดตลอดเวลา ถ้านำมาวางปลูกเลี้ยงในที่ที่มีแสงน้อยลงทันที คือ ซื้อมาก็นำมาวางในบ้านเล ต้นไม้จะปรับตัวไม่ได้ จะแสดงอาการออกทางใบ เช่น ใบเริ่มร่วง, ใบเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง, ใบไม่ตั้งช่อ อย่าลืมว่า ต้นไม้เปลี่ยนที่อยู่ ต้องมีเวลาให้เค้าปรับตัวเสมอ ต้นยางอินเดียเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แปลว่า เราเอาต้นไม้ใหญ่มาเลี้ยงในบ้าน แถมยังลดปริมาณแสงที่ต้องใช้ในการเจริญเติบโตอีก ต้องให้เวลา ต้นไม้ปรับตัวกันหน่อย

ควรวางต้นยางอินเดีย ในที่ที่แสงแดดส่องถึง ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงจะดีที่สุด การได้รับแสงน้อยไป ให้สังเกตความผิดปกติของใบเป็นหลัก ใบจะเริ่มเหลือง และร่วง ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องนำไปวางในที่ที่มีปริมาณแสงเยอะขึ้น อาจไม่มีสูตรตายตัว ต้องปรับขยับวาง เปลี่ยนตำแหน่ง จนกว่าต้นยางจะมีสุขภาพดี ให้ต้นไม้ได้ปรับตัว โดยสังเกตจากใบเป็นหลัก

ส่วนการรดน้ำให้สังเกต ที่ดินในกระถางว่ายังชื้นอยู่ไหม ถ้าแห้งแล้วจึงรดน้ำ ซึ่งความชื้นในกระถางขึ้นกับ แสงแดดที่ได้รับด้วย ถ้าบริเวณที่ตั้งต้นไม้ ได้รับแสงแดดนาน ดินในกระถางเริ่มแห้ง ก็ต้องรดน้ำบ่อยหน่อย การรดน้ำต้นไม้ในกระถางควรรดจน น้ำไหลออกทางจานรองกระถาง ก็แสดงว่ารดน้ำชุ่มแล้ว ฉะนั้นซื้อกระถาง ให้ซื้อจานรองกระถางมาด้วย

อาจกล่าวได้ว่า ต้นยางอินเดีย ชอบแดดและทนร่ม ก็คงไม่ผิด ถ้ามีเวลาให้ต้นไม้ได้ปรับตัว ได้รับปริมาณแสง และน้ำพอเพียง ก็สามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ สำหรับท่านใดที่กำลังเริ่มปลูกเลี้ยง ต้นยางอินเดียในที่ร่ม ลอง “ปรับขยับวาง” กันดูนะครับ

ข้อควรระวังของการปลูกเลี้ยงต้นยางอินเดีย คือ ภายในลำต้นและใบของมันมี น้ำยางสีขาวซึ่งเป็นพิษ ควรระวังอย่าให้โดนมือ ถ้าโดนผิวหนังให้รีบล้างออกทันที

——————————————————
คอลัมน์ “มหัศจรรย์พรรณไม้”
เขียนโดย เอกลักษณ์ ถนัดสวน