สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของถั่วฝักยาว สิ่งสำคัญของการปลูกพืชคือต้องรู้ถึงความต้องการของถั่วฝักยาวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้จัดการแปลงปลูกให้เหมาะสมต่อความต้องการของพืช ดังนี้ ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ชุก ถ้าอากาศร้อนเกินไปหรือฝนตกชุก จะทำให้ดอกและฝักร่วง มีความต้องการแสงแดดตลอดวัน ในฤดูแล้ง จะให้ผลผลิตสูงกว่าในฤดูฝน แต่ถ้ามีการดูแลที่ดีในฤดูฝน คุณภาพของฝักที่ได้จะดีกว่าในช่วงฤดูร้อน เจริญได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะในการปลูกที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำได้ดี สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.5-6.8 ในการปลูกใช้น้ำประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดูกาล

การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญในการปลูกถั่วฝักยาว ซึ่งสายพันธุ์ถั่วฝักยาวที่เหมาะกับความต้องการของตลาด ซึ่งสวนคุณลี อ.เมือง จ.พิจิตร ได้เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวสายพันธุ์ลูกผสมเปิดที่ผ่านการคัดเลือกมาจนสายพันธุ์ค่อนข้างนิ่ง ซึ่งข้อดีของเมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิด คือ เมื่อนำไปปลูกแล้วเราสามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ตลอดโดยที่ไม่ต้องไปซื้อเมล็ดใหม่ทุกครั้งที่ปลูกเหมือนเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ส่วนลักษณะสายพันธุ์ คือ เนื้อหนา รสชาติหวานกรอบ ฝักยาว ประมาณ 30-40 ซม. ผิวเปลือกมีสีเขียวอ่อน (ตลาดนิยมมากกว่าผิวสีเขียวเข้ม) 

การเตรียมดิน ไถพรวน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อจัดการกับศัตรูพืชต่างๆ ในดิน กำจัดวัชพืชออกจากแปลง แล้วไถคราด อาจใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น การยกร่อง ให้ร่องกว้างประมาณ 1 เมตร ขนานกับพื้นที่ และเตรียมร่องระหว่างแปลงปลูก 50-80 เซนติเมตร ไว้เดินเข้าออก การเตรียมหลุมปลูก  ขุดหลุมลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 5-10-5 หรือ 15-15-15 หลุมละครึ่งช้อนแกง คลุกให้เข้ากันกับดินก้นหลุม

การปลูก หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด กลบด้วยแกลบหรือปุ๋ยคอกหรือดินผสม ให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางแห้งบางๆ เพื่อรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่มพอเหมาะการจัดการหลังการปลูก การถอนแยก หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว 7-15 วัน ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม การให้น้ำ หลังหยอดเมล็ดควรให้น้ำทุกวัน เช้า-เย็น จนต้นถั่วฝักยาวสามารถตั้งตัวได้ แล้วจึงค่อยปรับการให้น้ำลง อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพอากาศ และสภาพดิน แต่ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอ และไม่ควรปล่อยให้น้ำขัง ต้นถั่วฝักยาวอาจตายได้ การให้ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยที่มี ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) อัตราส่วน 1:2:1 เนื่องจากต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูง เพื่อใช้ในการสร้างดอก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเดิมเป็นหลัก ในดินร่วน หรือร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 5-10-5  ในดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในดินทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งละ 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งแรกรองก้นหลุมก่อนปลูก ครั้งที่สองเมื่อเริ่มออกดอก (ถั่วมีอายุประมาณ 30 วัน) ใส่ 2 ข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ อาจมีการใส่ปุ๋ยเพิ่มเมื่อเก็บผลผลิต เพื่อบำรุงต้นให้สามารถเก็บผลผลิตได้นานขึ้น

การทำค้าง ถั่วฝักยาวเมื่อมีอายุประมาณ 15-20 วัน จะมีใบจริง 4-5 ใบ และเริ่มทอดยอด หรือเลื้อยหาที่เกาะ ควรหาไม้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ครึ่งนิ้ว ยาว 2-2.5 เมตร ปักใกล้หลุมเพื่อให้ถั่วฝักยาวพันหรือเลื้อยขึ้นไปตามไม้ ในระยะแรกต้องช่วยจับยอดให้พันไม้ค้าง โดยพันทวนเข็มนาฬิกา การปักไม้ค้ำมีหลายแบบ ที่นิยมคือการทำค้างแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ในช่วงประมาณ 7-10 วันแรกหลังปลูก ควรถอนหญ้า เพื่อป้องกันการแย่งอาหารจากต้นถั่วฝักยาว และควรถอนอีกครั้งพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยจากต้นถั่วฝักยาว หลังจากนั้นไม่ค่อยมีความจำเป็นแล้ว เนื่องจากต้นถั่วฝักยาวจะเจริญคลุมพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง ควรมีการตัดแต่งกิ่งช่วงด้านล่างบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นโทรม และทำให้ฝักเต่ง ไม่ลีบ โดยเฉพาะในฤดูฝน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคอยตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ฝักนอนอยู่บนดิน จะทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย และเมล็ดที่แก่จะงอก

การเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม คือ เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 40 วันหลังปลูก หรือหลังดอกบาน 4-8 วัน โดยทั่วไปจะเก็บได้ประมาณ 25-30 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และการดูแล โดยเลือกเก็บฝักที่สียังไม่จาง และฝักยังไม่พอง เรียบ สม่ำเสมอ ควรทยอยเก็บทุกๆ 2- 4 วัน ไม่อย่างนั้นฝักจะแก่คาต้น วิธีการเก็บถั่วฝักยาว ปลิดที่ขั้ว ระวังไม่ให้ดอกใหม่หลุด ไม่อย่างนั้นจะมีผลต่อการเกิดฝักใหม่ และควรทยอยเก็บ อย่าปล่อยให้ฝักแก่ตกค้าง หลังเก็บแล้ว ไม่ควรทิ้งไว้กลางแดด หรือวางกับดินโดยไม่มีอะไรรอง ควรแช่ในน้ำสะอาด 1 ชั่วโมง เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อน เพื่อให้ถั่วฝักยาวสดใหม่ สะอาด น่าซื้อและได้ราคาดี เทคนิคทำให้ฝักดก คือ การเด็ดยอด ในช่วงวันที่ 25 ช่วงที่ถั่วฝักยาวเริ่มไต่ยอดขึ้นตามค้าง ให้เด็ดยอดถั่วฝักยาวออก 2 คู่ หรือประมาณ 2 นิ้ว หลังจากนั้น 3-4 วัน จะมียอดใหม่แตกออกประมาณ 4-5 ยอด ตรงข้อที่ได้เด็ดออกไป ดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำอย่างสม่ำเสมอต่อไปอีกประมาณ 10-15 วัน ยอดที่แตกใหม่จะเริ่มผลิดอก และติดฝักที่ดกกว่าการที่ไม่ได้ทำการเด็ดยอด นอกจากนั้นยังทำให้พุ่มถั่วไม่สูงจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการดูแลและการเก็บฝัก