นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีเอส โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5จี ต้นแบบสำหรับให้บริการประชาชน ใน จ.เชียงใหม่ และ 5จี สมาร์ท เฮลท์ กับทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ด้วยงบประมาณสนับสนุน จำนวน 49,306,000 บาท จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำเทคโนโลยี 5จี มาพัฒนาดิจิทัลครอบคลุมในทุกด้าน ให้เกิดการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

“ความร่วมมือของสองหน่วยงานครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยี 5จี มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิ การใช้เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงสามมิติด้วยรถพยาบาลอัจริยะ พร้อมบูรณาการแว่นตาอัจฉริยะ ผ่านเครือข่าย 5จี ในการปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถ ได้แบบเรียลไทม์ การให้คำปรึกษากับ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านเว็บแอพพลิเคชั่นได้อย่างครบวงจรโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่”

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ในวงการแพทย์มากขึ้น โดยคณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มีนโยบายเพื่อตอบยุทธศาสตร์ของชาติ ในการใช้ เทคโนโลยี 5จี มาพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยการทำโครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกล เพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลอาศัยในเขต จ.ภาคเหนือ ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การใช้ 5จี มาช่วยเพียงเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้เคียงที่พัก หรือที่สะดวกในการเข้ารับบริการ สามารถลดต้นทุนด้านการเดินทาง และลดเวลาแก่ผู้ป่วยได้ ที่สำคัญยังได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“บุคลากรทางการแพทย์บนรถพยาบาลฉุกเฉิน สามารถปรึกษาและรักษาผู้ป่วยบนรถพยาบาลฉุกเฉินขณะส่งตัวผู้ป่วย ร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ส่งผลให้โรคฉุกเฉินและโรควิกฤติ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองตีบ เป็นต้น สามารถได้รับการรักษาได้ทันทีโดยแพทย์เฉพาะทางในแต่ละโรค ระหว่างส่งตัวผู้ป่วย ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนได้”