โดยความคืบหน้าในการสอบสวนเพื่อขุดคุ้ยความจริงเกี่ยวกับ “ลัทธิพิสดาร” ที่ว่านี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป…บทสรุปจะเป็นเช่นไรนั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ว่าด้วย “กรณีลัทธิใหม่” สำหรับในไทยนี่ก็มิใช่เพิ่งเกิดเป็นกรณีแรก…

ที่ผ่านมากรณี “ลัทธิแปลก” นี่ “เคยอื้ออึงหลายครั้ง”

แต่ละครั้งก็ทำให้สังคมไทย-คนไทยต้องรู้สึก “อึ้ง!!”

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลกรณีนี้มาสะท้อนต่อ…

ทั้งนี้ หากจะดูที่ “ปัจจัยในการเกิดขึ้น” ของ “ลัทธิใหม่” ในสังคมโลกยุคใหม่นั้น ได้มีการสะท้อน “ปรากฏการณ์ทางสังคม” เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้น่าสนใจ ผ่านบทวิเคราะห์ในบทความชื่อ “ศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่” โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการเผยแพร่บทความดังกล่าวนี้ไว้ผ่านทาง เว็บไซต์ www.human.cmu.ac.th ซึ่ง ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้ฉายภาพ “ปรากฏการณ์ลัทธิใหม่” ที่เกิดขึ้น ไว้ว่า…

“มีสาเหตุ-มีปัจจัย” ที่ “กระตุ้นทำให้เกิดลัทธิใหม่ ๆ”

เกี่ยวกับ “ลัทธิใหม่ ๆ” กับ “สังคมโลกสมัยใหม่” ที่บางลัทธิ-บางความเชื่อนั้นก็สุดโต่งหรือพิลึกจนชวนให้อึ้งสุด ๆ นั้น กับคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้ฉายภาพไว้ในบทความดังกล่าวว่า… ปรากฏการณ์เด่นชัดที่ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติของศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่ ก็คือ… การเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นมาพร้อมกับการลดน้อยถอยลงของศรัทธาในศาสนาหลัก ซึ่งการเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ ๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ทางนักวิชาการจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้…

เพราะ “ลัทธิพิธีใหม่ ๆ” ที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น…

มัก “มีเป้าหมายต่างออกไปจากขนบศาสนาดั้งเดิม”

ศ.ดร.อรรถจักร์ อธิบายไว้ถึง “การแพร่ขยายตัวของลัทธิใหม่” โดยระบุว่า… ทั่วโลกได้พบเห็นการเกิดขึ้นมาใหม่ของลัทธิพิธีใหม่ ๆ ต่าง ๆ ที่มีเป้าหมาย และความเชื่อที่แตกต่างไปจากขนบและความเชื่อทางศาสนาแบบเดิมอยู่ตลอดเวลา เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีลัทธิพิธีใหม่เกิดขึ้นมากถึงราว 400 กลุ่ม ในช่วงทศวรรษ 1980 และอีกประเทศที่มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ญี่ปุ่น ในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นนั้นได้กลายมาเป็น “กรณีศึกษา” ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจ “การขยายตัวของลัทธิใหม่” หลังเกิดกรณีที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกตื่นกลัวกัน นั่นก็คือกรณีของลัทธิพิธี “โอม ชินริเกียว” ที่สมาชิกของกลุ่มได้ก่อเหตุ ปล่อยแก๊สพิษในรถไฟใต้ดิน!!…

ทำให้สังคมโลกมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มลัทธิใหม่

ทั้งนี้ ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้จำแนก “กลุ่มลัทธิพิธีใหม่” ที่พบในสังคมสมัยใหม่ไว้ว่า… สามารถ แบ่งได้ 4 กลุ่ม กว้าง ๆ คือ… กลุ่มที่เน้นตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ที่จะเน้นความเชื่อเรื่อง ปาฏิหาริย์ หรือไสยศาสตร์ อันเกิดจากการบูชาเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิพิธีนั้น เพื่อให้บรรลุหรือพบเป้าหมายที่ต้องการ, กลุ่มที่เน้นควบคุมจิตใจ ที่มีความเชื่อเรื่องความพยายามเข้าใจในความเป็นมนุษย์และการ ควบคุมจิตใจให้ดำเนินไปถึงเป้าหมายของลัทธิพิธี นั้น, กลุ่มที่เน้นความเชื่อเรื่องโลกแตก ซึ่งจำนวนหนึ่งมีฐานมาจากความ เกลียดชังระบบสังคมที่เป็นอยู่ ต้องการสร้างโลกใหม่

และอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เน้นมิติทางสังคม ที่จะเน้น ศีลธรรม ที่วางอยู่บนการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม หรือบางกลุ่มได้เน้นเรื่องของการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหมดอย่างมีจริยธรรม …เหล่านี้เป็นการจำแนก “กลุ่มลัทธิพิธีใหม่ที่พบในสังคมสมัยใหม่” ที่ทางนักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านดังกล่าวระบุไว้ในบทความ

สำหรับ ประเทศไทย นั้น ในสังคมไทยสมัยใหม่ก็มีลัทธิใหม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งลัทธิใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาในไทยนั้น ทาง ศ.ดร.อรรถจักร์ ชี้ไว้ว่า… ลัทธิใหม่ที่มีเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าทุกกลุ่มจะก่อปัญหาให้แก่สังคม มีลัทธิใหม่ไม่น้อยที่ไม่ได้มีปฏิบัติการรุนแรง แต่เน้นให้สมาชิกปฏิบัติอยู่ในครรลองความสงบและสันติสุขเช่นศาสนาหลักทั่วไป หากแต่การเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่เหล่านี้ก็ เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก ที่สังคมไทยควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ชัดเจน

“ลัทธิพิธีใหม่ที่เกิดขึ้นขณะนี้ สะท้อนว่า… คนในสังคมสมัยใหม่มีความต้องการที่จะอธิบายกระบวนการของชีวิตของเขาที่มีความแตกต่างและหลากหลายมากกว่าคำอธิบายจากความเชื่อจากศาสนาดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีคนจํานวนไม่น้อยหันเข้าหาลัทธิพิธีใหม่ เพื่อแสวงหาคำตอบของเขาที่ไม่เหมือนกับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม” …เป็นคำอธิบายถึง “สาเหตุ” ที่ทาง ศ.ดร.อรรถจักร์ สะท้อนไว้ในบทความ “ศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่”

“ลัทธิพิธีแปลก ๆ” ที่เป็นการ “หวังประโยชน์” นั้นก็มี

ที่เป็นแบบ “พิสดารชวนอึ้ง!!” ก็มี “เกิดขึ้นเรื่อย ๆ”

ขณะที่ ปัจจัยแสวงหาคำตอบชีวิตนี่ก็น่าคิด”

“สังคมสมัยใหม่ให้คำตอบชีวิตได้ไม่ทั่วถึง??”.