โดยที่กระแส “เทไปเทมาระหว่าง 2 ฝ่าย” ซึ่งกับกรณีคู่ดราม่าคู่นี้ที่สุดแล้วลงเอยแบบไหนอย่างไรนั่นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสภาพรวมทั่ว ๆ ไปโดยว่าด้วยเรื่อง “ปมดราม่า” เกี่ยวกับการ“บริจาค-รับบริจาค” หลัง ๆ นี่ในสังคมไทย “เกิดเรื่องราวดราม่าบ่อยครั้ง” ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนย้ำ…

ที่ผ่าน ๆ มาดราม่าที่อื้ออึงล้วนทำให้สังคมไทยอึ้ง

โดยเฉพาะกรณีที่ “โกงเงินบริจาค-โกหกรับบริจาค”

จน “คนไทยไม่น้อยรู้สึกไม่มั่นใจที่จะร่วมบริจาค!!”

ทั้งนี้ กับกระแส “ดราม่า” ที่ผูกโยงเข้ากับ “จริตการทำดีของคนไทย” ในเรื่องการ “บริจาค” ในภาพรวมทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกรณีใดกรณีหนึ่ง กับกระแสแบบนี้เรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนไปบ้างแล้ว และวันนี้จะสะท้อนย้ำกันไว้อีก ในยุคที่เรื่องแบบนี้ไม่ลดน้อยถอยลงไปจากสังคมไทย…ซ้ำยังดูจะอื้ออึงมากขึ้นเรื่อย ๆ… โดยที่เรื่อง “การทำบุญบริจาคเงิน” นั้นก็มี “ข้อมูลในมุมสถิติ” เคยมี “ผลสำรวจเรื่องการทำบุญบริจาคเงิน” ของคนทั่วโลก เมื่อปี 2019 โดยผลสำรวจพบว่า… “ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่คนชอบบริจาคเงินมากที่สุด” โดยในโผ 10 ประเทศนั้น…

“ไทยอยู่อันดับ 4” ที่ก็สะท้อนความใจบุญของคนไทย

กล่าวเฉพาะในประเทศไทย ในมุมวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องของ “พฤติกรรมการบริจาคของคนไทย” นั้น ก็มี “ข้อมูลในมุมวิชาการ” ที่เคยสะท้อนไว้ผ่านบทความ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคของคนไทย” โดย อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล ซึ่งบทความดังกล่าวนี้เป็นบทความที่ตีพิมพ์ใน วารสารเศรษฐศาสตร์ปริทรรศน์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2558) เป็นบทความที่นำเสนอข้อมูลการศึกษา วิเคราะห์ เกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ของการบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และเวลา ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร?? ซึ่งในบทความดังกล่าวนี้ได้ระบุไว้ว่า…

“ทุนทางสังคมของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายทางสังคม ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตลอดจนเครือข่ายทางศาสนานั้น มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจบริจาค เพราะเครือข่ายทางสังคมเป็นช่องทางให้บุคคลได้รับข่าวสารข้อมูลมากขึ้น รวมถึงทำให้รับทราบปัญหาและความต้องการของผู้ที่เดือดร้อน”

นี่ชี้ว่า…“เครือข่ายทางสังคมรูปแบบต่าง ๆ มีผล”

“มีผลต่อการตัดสินใจบริจาค” อย่าง “มีนัยสำคัญ!!”

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการเปิดเผยถึงผลการศึกษาไว้ว่า… จากการสุ่มตัวอย่างและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ที่เน้นวิเคราะห์เกี่ยวกับ พฤติกรรมการบริจาคของคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ทั้งในเขตเมืองและในชนบท ก็สามารถ จำแนกแบ่งประเภทของการบริจาคได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ กล่าวคือ… การบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และการบริจาคเวลา ซึ่งจากผลการศึกษาก็พบว่า… การ “บริจาคเงิน” เป็นรูปแบบของการบริจาคที่คนไทยนิยมมากที่สุด…

จากผลการศึกษาดังว่า…หันมาโฟกัสสถานการณ์ยุคนี้…

ที่เกิดมี “ดราม่าบริจาค” อยู่เรื่อย ๆ…“ก็เงินนี่แหละ!!”

กลับมาดูต่อที่ข้อมูลจากบทความดังกล่าว… กับ เหตุผลในการบริจาค-ในการให้ ของคนไทยนั้น มี 3 เหตุผล ดังนี้คือ… ให้เพราะเป็นการทำตามความเชื่อทางศาสนา โดยผลการศึกษาพบว่า…ร้อยละ 91 เลือกที่จะบริจาคเงินเพราะมีความเชื่อนี้เป็นแรงจูงใจสำคัญ, ให้เพราะต้องการช่วยเหลือผู้อื่นหรือเพราะอยากที่จะเห็นสังคมดีขึ้น และอีกเหตุผลคือ ให้เพราะความสบายใจ โดยมีการมองด้วยว่า…การทำงานสังคมสงเคราะห์นั้นก็ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

นี่เป็น “ข้อมูลในมุมวิชาการ” ที่ได้มีการสะท้อนไว้…

“ฉายภาพแรงจูงใจ” ใน “การบริจาคของคนไทย”

และจากที่ในบทความ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคของคนไทย” โดย อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล ระบุไว้ จากผลศึกษา-จากการทำแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่าง ก็ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า… ในสังคมไทย กับคนไทยนั้น เพศหญิงมีความน่าจะเป็นของการบริจาคเงินหรือสิ่งของมากกว่าเพศชาย โดยที่… ยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีแนวโน้มความน่าจะเป็นที่จะบริจาคเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลศึกษากลุ่มตัวอย่างยังค้นพบว่า… ยิ่งมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะยิ่งมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินหรือบริจาคสิ่งของเพิ่มขึ้น …นี่เป็นข้อมูลมุมวิชาการหัวข้อปัจจัยระดับการศึกษา

ทั้งนี้ “การบริจาค-การให้” นั้น…นี่ไม่เพียงเป็นประโยชน์กับผู้ที่เดือดร้อนที่ได้รับ กับผู้ที่บริจาค-ผู้ที่ให้นั้น…ถือเป็นการแสดงออกถึงการสละความหวงในทรัพย์ เป็นกุศล และเป็นความสุขใจ…ก็เป็นประโยชน์กับผู้ที่บริจาค-ผู้ที่ให้เองด้วย ซึ่งเรื่อง “บริจาค” นี่ก็เป็นอีก “เรื่องดีที่มีมากในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล” ทว่า…“ยุคปัจจุบันกลับมีดราม่าบริจาคเกิดมาก”…

มีทั้งที่ “หลอกรับบริจาค”…มีทั้ง “โกงเงินร่วมบริจาค”

“บริจาคแล้วเกิดกระแสดราม่า” แบบนี้ก็ยังมีเกิดขึ้น

“จริตบริจาคของคนไทย” นี่ “นับวันยิ่งสั่นคลอน!!”.