โดยวันนี้จะมาตามต่อกันเกี่ยวกับเรื่องราวของแรงงานผิดกฎหมาย (ผีน้อย) ในกิจกรรมการเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เจาะลึกชีวิตแรงงานไทยในเกาหลี” ของ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.วิมลมาส หมื่นหอ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะอดีตอาสาสมัครศูนย์ช่วยเหลือดูแลแรงงานไทยในเกาหลี

แอบไปแบบกรุ๊ปทัวร์-7 ปีย้ายงาน3ครั้ง

“น้องเตย” เป็น 1 ในจำนวน 400,000 คน (จากหลายประเทศ) ของแรงงาน “ผีน้อย” ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลี น้องเตยเล่าว่าก่อนหน้านั้นเคยทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกรร้านขายยา มีรายได้พอใช้ แต่วันหนึ่งมีนายหน้าซึ่งเป็นคนไทยมาร้านขายยาแล้วชวนไปทำงานที่เกาหลี ความรู้สึกตอนนั้นคือการนึกถึงใบหน้าหนุ่มเกาหลี นึกถึง “โอปป้า” ขึ้นมาก่อนเลย

แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตจริง ๆ คือต้องการส่งน้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงพูดขอกับแม่จนแม่ใจอ่อน เพราะเห็นว่ารู้จักกับนายหน้า เมื่อแม่ไฟเขียวแล้วใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็เดินทางเลย คือมาในลักษณะของ “กรุ๊ปทัวร์” โปรแกรมเที่ยว 2 คืน 3 วัน ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ภาษาเกาหลีเลย รู้แต่การทักทายว่า “อันยอง ฮาเซโย” ต้องจ่ายค่าทัวร์และค่านายหน้าทั้งคนไทย และนายหน้าเกาหลี รวม 5-6 หมื่นบาท และมีเงินติดตัวมาอีก 3-4 หมื่นบาท

เมื่อมาถึงสนามบินในเกาหลี ผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)แล้ว นายหน้าจะรีบพาเข้าลิฟต์ลงมาที่ชั้นใต้ดินของสนามบิน แล้วพาขึ้นรถเก๋งไปกันหลายคน เพื่อไปบ้านที่นายหน้าจัดเตรียมไว้ให้ มีสภาพเป็นบ้านนอกมาก ๆ ห้องน้ำยังเป็นแบบส้วมหลุม สภาพชีวิตจริงในขณะนั้นไม่เหมือนในซีรีส์เกาหลีที่เราเห็น ต้องนอนรองานอยู่ 2-3 วัน และเปลี่ยนนายหน้าใหม่จึงได้ทำงานที่แรกเป็นโรงชำแหละเป็ด ซึ่งเหม็นและมีกลิ่นคาวมาก ทำอยู่ระยะหนึ่งจึงขอย้ายงาน ได้ไปทำงานที่ใหม่แต่อยู่กะดึก 12 ชั่วโมง ทำอยู่พักหนึ่งร่างกายสู้ไม่ไหว จึงขอย้ายงานอีก แต่จากกันด้วยดี ได้งานใหม่ทำอยู่ในปัจจุบันเป็นโรงงานพลาสติกธรรมดาทั่วไป รวมระยะเวลาทำงานในเกาหลี 7 ปีแล้ว

โดยงานที่ทำอยู่ปัจจุบันทำวันละ 12 ชม. วันจันทร์-เสาร์ หยุดงานวันอาทิตย์ ในที่ทำงานมีที่พักให้ แต่ไม่มีอาหารเลี้ยง แต่ละโรงงานขึ้นอยู่กับนายจ้าง และมีรายได้เดือนละ 4-5 หมื่นบาท ส่งให้ทางบ้านเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท

เคยวิ่งหนี ตม.ขึ้นไปหลบบนภูเขา

เมื่อ ดร.ไพบูลย์ ถามเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เจ้าหน้าที่ ตม.มากน้อยแค่ไหน? น้องเตยกล่าวว่าหลายโรงงานแก้ปัญหาโดยการให้ “ผีน้อย” ทำงานกะกลางคืนไปเลย เนื่องจาก ตม. จะไม่เข้าตรวจตอนกลางคืน แต่สำหรับตนมีประสบการณ์วิ่งหนี ตม. 2 ครั้ง พอเห็นรถ ตม.วิ่งมาไกล ก็วิ่งออกจากโรงงานกันเลย วิ่งหนีขึ้นไปบนภูเขาอย่างล้มลุกคลุกคลาน นึกสภาพแล้วรู้สึกสงสารตัวเองมาก ๆ วิ่งหนีขึ้นไปหลบอยู่บนภูเขา ปรากฏว่ามีแต่ “ผีน้อย”ทั้งนั้น ไม่รู้มาจากไหนกันบ้างกว่า 20 คน

อีกครั้งเดินไปเจอ ตม. ในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของเขา เขาพาขึ้นรถเพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวโน่นนี่ ถามว่าอยู่โรงงานไหน แล้วขับรถพามาส่งที่ห้องพัก แต่พอวันรุ่งขึ้น ตม.ก็เข้าโรงงาน

แต่ถ้าวันไหนหยุดงานก็ไปเที่ยวพักผ่อนบ้างในละแวกใกล้ หรืออาจไปโบสถ์ แต่จะไปไหนก็ตาม เราต้องใช้สายตามองไกล ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะมี ตม. ไม่ทำตัวให้มีพิรุธ หรือบางครั้งต้องเช็กข้อมูลในสังคมออนไลน์แจ้งกันว่าวันนี้ตม.จะเข้าตรงโน้นตรงนี้ อย่าเฉียดเข้าไปใกล้

ยังไม่คิดกลับบ้านเศรษฐกิจแย่ไม่มีงาน

เมื่อถามว่านายหน้าไทย-นายหน้าเกาหลีดุเดือดแค่ไหน? น้องเตยกล่าวว่านายหน้าคนไทยไม่มีปัญหาเพราะรู้จักกัน แต่นายหน้าเกาหลีที่เจอก็ไม่มีปัญหานะ เท่าที่ได้ยินนายหน้าบางคนอาจจะขอกินเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนของแรงงานผีน้อยประมาณ 6-7 เดือน ในลักษณะนั้นมากกว่า ถ้าโรงงานไหนเงินเดือนออกช้า เราอาจจะบอกกับนายหน้าให้ไปช่วยทวงเงินจากนายจ้างให้ในลักษณะนี้ก็มี แต่นายหน้าจะไม่ควักเงินจ่ายเอง

ดังนั้นส่วนตัวจึงไม่แนะนำให้มาทำงานแบบผิดกฎหมาย ควรมาตามระบบช่องทางที่ถูกกฎหมายจะดีกว่า โดยเฉพาะคนอายุมาก และมีโรคประจำตัว อย่ามาเลยเพราะงานหนักและเสี่ยงที่จะเสียชีวิต

ส่วนคำถามที่ว่าอยู่เกาหลีมา 7 ปีแล้ว เมื่อไหร่จะคิดกลับประเทศไทย? น้องเตยกล่าวว่าตอนแรกตั้งใจมาทำงานเกาหลี 4-5 ปีคงพอ เมื่อส่งน้องเรียนจบมหาวิทยาลัยก็จะกลับบ้าน แต่ตอนนี้น้องเรียนจบแต่ยังไม่มีงานทำ แล้วเราจะกลับไปทำอะไร ยิ่งอยู่ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก คงหางานยากมาก จึงต้องดูแลน้องต่อไป ดังนั้นแผนการที่วางไว้จึงต้องเปลี่ยนแปลงตลอด ตอนนี้จึงต้องทำงานเก็บเงินเพื่อรอโอกาส รอให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น รอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รู้จักพิจารณาตัวเองก่อน จึงค่อยกลับไปทำธุรกิจเล็ก ๆ คือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าเศรษฐกิจบ้านเราดี ตนไม่อยากมาอยู่ในสภาพแบบนี้หรอก

ถูกตม.จับส่งกลับ!พร้อมแบล็กลิสต์

ทางด้าน ดร.วิมลมาส กล่าวว่า เหตุผลของการลักลอบเข้าไปทำงานแบบไม่ถูกต้องในเกาหลี เป็นเพราะถ้าเข้ามาตามระบบ EPS จะมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนมากมาย และเสียเวลานาน ใครอายุเกิน 40 ปีก็มาไม่ได้ ที่สำคัญเกาหลีรับแรงงานชายมากกว่าผู้หญิง โอกาสของผู้หญิงจึงยากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงแอบมากับกรุ๊ปทัวร์ หรือเดินทางไปท่องเที่ยงเองบ้าง โดยมีเพื่อน หรือญาติพี่น้องคอยรอรับอยู่ที่โน่น แต่ถ้าถูก ตม. จับได้เมื่อไหร่ เขาส่งกลับสถานเดียว และอาจถูกแบล็กลิสต์ห้ามเข้าเกาหลีในระยะเวลากี่ปีก็ว่ากันไป

“ทุกวันนี้ทางการเกาหลีก็รับรู้ถึงการมีตัวตนผีน้อยอยู่ในประเทศประมาณ 400,000 คน (หลายชาติ) แต่จะทำอย่างไรในเมื่ออัตราการเกิดลดลง คนสูงวัยมีมากขึ้น และขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ดังนั้นจึงต้องลุ้นกันไปเรื่อย ๆ ว่าเมื่อไหร่เกาหลีจะทำให้ผีน้อยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย เมื่อปีที่แล้วเกาหลีเปิดโอกาสให้ผีน้อยมารายงานตัวขอกลับประเทศ ขอกลับแล้วมาใหม่ได้ จ่ายค่าปรับเท่าไหร่ ระยะเวลาห้ามเข้าประเทศกี่ปี บอกไม่ได้ว่าถ้ามีแรงงานผิดกฎหมายมาก ๆ จะโดนแบล็กลิสต์แค่ไหน ห้ามเข้ากี่ปี”

นายหน้ารับจ้างอุ้มลูก “ผีน้อยกลับไทย

ดร.วิมลมาสกล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีของ “น้องเตย” อยู่มา 7 ปี ไม่เคยกลับเลย ถ้าถูกจับต้องส่งกลับอย่างเดียว และคงกลับไปไม่ได้อีกในช่วงเวลา 3-10 ปี หลังจากนั้นไปได้อีกหรือไม่ ตอบยาก เพราะขึ้นอยู่กับ ตม. ขึ้นอยู่กับแบล็กลิสต์ ดังนั้นคนที่คิดจะไปทำงานเกาหลีแบบไม่ถูกกฎหมายจึงต้องระวังมาก เพราะปัจจุบันยังมีการหลอกลวงไปทำงานเก็บผลไม้ ต้องเช็กให้ดีว่ามีการออกวีซ่า E9 ให้กับแรงงานเกษตร จริงหรือเปล่า? ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด เนื่องจากเกาหลีจะมีกฎหมายใหม่ ๆ เกี่ยวกับแรงงานออกมาอยู่เรื่อย ๆ

ถ้าเข้าไปตามระบบอย่างถูกต้อง ก็จะมีหลาย ๆ ระบบช่วยดูแลแรงงานเหล่านี้อย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่า “ผีน้อย” จะถูกทิ้งขว้างตามยถากรรมนะ เพราะเกาหลีมีระบบสาธารณสุขที่คอยดูแลแรงงานผิดกฎหมายในระดับที่ดีพอสมควร มีหลายองค์กรคอยช่วยเหลือ รวมทั้งมีเพจต่าง ๆ ของคนไทยในเกาหลีด้วย ยกตัวอย่างเพจ “เอะอะก็เกาหลี” เป็นต้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมามีคนไทยชาย-หญิง ไปใช้แรงงานในเกาหลี ไปพบรักกันที่นั่นแล้วมีลูกด้วยกัน ผู้ชายอาจเป็นแรงงานถูกกฎหมาย มีวีซ่า ส่วนผู้หญิงเป็นผีน้อย ฝ่ายชายอาจจะอุ้มลูกกลับมาให้ปู่ย่า ตายายที่เมืองไทยเลี้ยงได้ แต่ถ้าเป็นผีน้อยกันทั้งพ่อและแม่ ก็สามารถไปคลอดลูกตามโรงพยาบาลทั่วไปได้ เสียค่าใช้จ่ายไม่กี่พันบาท หลังจากนั้นก็ไปติดต่อนายหน้าคนไทย “รับอุ้ม” ตามช่องว่างทางกฎหมาย แล้วพากันไปสถานทูตไทยในเกาหลี เพื่อให้พ่อแม่เซ็นมอบอำนาจให้นายหน้าที่รับจ้างอุ้มลูกกลับมาให้ปู่ย่า-ตายายเลี้ยงในเมืองไทย ส่วนค่าใช้จ่ายในการรับจ้างอุ้มลูก แน่นอนว่าต้องมีค่าเครื่องบินไป-กลับ และค่าอื่น ๆ รวมอยู่ในนั้นด้วย.