เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ( ไอโอซี ) นักกีฬา 11,000 คน คณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่น ประชาชนชาวญี่ปุ่น แฟนกีฬาที่หายไป เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมการแข่งขันในสนามได้ ตามมาตรการควบคุมโรค

แล้วก็ผู้สนับสนุนรายการทั้งหลายที่เรียกกันว่า สปอนเซอร์ หรือรัฐบาลญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซึงะ แล้วยังมีรัฐบาลมหานครโตเกียวและผู้ว่ายูริโกะ โคคิเอะ ผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมือง ชุมชนการแพทย์โตเกียว และผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์เครือข่ายโทรทัศน์อเมริกัน “เอ็นบีซี”

เมื่อจัดการแข่งขันมาได้แล้ว หลายคนอาจมองว่าถือว่าสำเร็จ แต่มันอาจจะมีผลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไอโอซี หุ้นส่วนการถ่ายทอด และสื่อมวลชนญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์หลายฉบับในญี่ปุ่นก็เป็นผู้สนับสนุนในประเทศ และมีความสนใจในการนำเสนอเกมการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ด้วย
สิ่งที่ต้องโฟกัสลงไปคือเรื่องกีฬา ไม่ใช่การเมือง ค่าใช้จ่าย การทุจริต และโควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไอโอซี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
การผลักดันเพื่อโอลิมปิกหลังจากที่ต้องเลื่อนมาหนึ่งปีเพราะไวรัส กระทบต่อชื่อเสียงของไอโอซีในประเทศญี่ปุ่น โดย “คาโอริ ยามากุชิ” อดีตเหรียญทองแดงโอลิมปิก และสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น บอกว่า เมื่อหลายเดือนก่อนเธอรู้สึกช็อก ที่พบว่าไอโอซีจัดการเรื่องนี้ในตอนแรกราวกับเป็นธุรกิจบันเทิง
เมื่อไอโอซีจะทำรายได้เกือบ 75% ซึ่งมาจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ อีก 18% จากสปอนเซอร์ แล้วประเมินออกมาแล้วว่าการเลื่อนแข่งขันโอลิมปิกออกมาทำให้ไอโอซีเสียรายได้ไป 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 40% ของรายได้หลักของไอโอซีมาจากหน่วยเดียวคือ เอ็นบีซี
คิท แมคคอนเนล ผอ.กีฬาของไอโอซี บอกว่า ตอนนี้ควรจะไปโฟกัสที่สนามแข่งขันกีฬา และนักกีฬาอย่างที่ควรจะเป็น
ไอโอซีควรจะไปโฟกัสเรื่องโควิดด้วย เพราะประชาชนคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกการแข่งขันจะต้องจบลงด้วยพิธีมอบเหรียญรางวัล หากจะให้ยกเลิกไป ไม่มีการมอบเหรียญก็คงเป็นไปไม่ได้ ส่วนคาซูโต ซูซูกิ นักรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียวบอกว่า ถ้ามันเกิดขึ้นก็คงจะกระทบกับประชาชน กับไอโอซีและทุกคน

สำหรับผู้ชนะรายใหญ่ หากโอลิมปิกดำเนินการออกมาได้อย่างดี ก็คงจะเป็นนายกรัฐมนตรีซึงะ ซึ่งพรรครัฐบาลแอลดีพีของเขาจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เพราะคะแนนนิยมของเขาปรับลดลง สาเหตุเพราะการจัดฉีดวัคซีนล่าช้า และการตัดสินใจของเขาให้เดินหน้าจัดการแข่งขัน แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาคัดค้าน ให้เลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน
ความได้เปรียบของนายกรัฐมนตรีซึงะ คือพรรคฝ่ายค้านยังไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้ พรรคแอลดีพีได้ครองอำนาจมายาวนาน นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
นักรัฐศาสตร์ซูซูกิบอกอีกว่า นี่คือช่วงเวลาการเมืองละเอียดอ่อนอย่างมาก เพราะนายก ฯ ซึงะต้องการใช้โอลิมปิกเป็นเสาหลัก สำหรับความสำเร็จในการเลือกตั้ง เมื่อญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จในโอลิมปิก และชนะเหรียญทอง คนญี่ปุ่นก็จะออกมาเชียร์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนายก ฯ ซึงะ แล้วยังมีเรื่องของจีนที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปีหน้า ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเขาหวั่นว่า จีนจะได้เป็นผู้นำโลกในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่

ไซโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวย้ำว่า โอลิมปิกจะสำเร็จได้ ถ้าจัดออกมาอย่างปลอดภัยและมั่นคง แต่คงจะยากถ้ามองว่า แล้วจะจัดการอย่างไรถึงจะประสบผลสำเร็จสำหรับคนญี่ปุ่น เมื่อถูกห้ามเข้าชมการแข่งขันในสนาม ต้องดูอยู่ที่บ้านผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์เท่านั้น
ความวุ่นวายของการจัดแข่งขันโอลิมปิกก็มีการเปิดโปงเรื่องทุจริต การเกลียดชังผู้หญิงและการข่มเหงรังแกบ่อนทำลายความสำเร็จก่อนเกมจะเริ่ม ไม่ว่าจะเป็น “ซึเนคาซุ ทาเทดะ” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นต้องลาออก เพราะเรื่องอื้อฉาวการทุจริตเมื่อสองปีครึ่งก่อน เกี่ยวข้องกับการลงมติในไอโอซีปี 2013 ที่ทำให้ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ “โยชิโร โมริ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องลาออก จากการเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เมื่อหกเดือนก่อน เพราะไปแสดงความเห็นไม่ให้เกียรติผู้หญิง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก่อนพิธีเปิด ผอ.คนหนึ่งได้ลาออก เพราะเคยแสดงความเห็นเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

และโชคไม่ดีสำหรับ “นาโอมิ โอซากะ” นักเทนนิสหญิงของญี่ปุ่น ผู้เป็นผู้จุดไฟคบเพลิงโอลิมปิกในวันเปิดการแข่งขัน ปรากฏว่าไปไม่ถึงเหรียญทองซะแล้ว เมื่อตกรอบ 3 แพ้ให้กับมาร์เคตา วอนดรูโซวา 6-1,6-4 ทั้งที่โอซากะเป็นคนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น แม้ว่าจะพูดญี่ปุ่นได้ไม่คล่องเท่าไหร่ และอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ คุณแม่ของเธอเป็นชาวญี่ปุ่น คุณพ่อเป็นชาวเฮติ แต่เธอก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากโอลิมปิกครั้งนี้.
ข้อมูล/ภาพ-เอพี