…เป็น “วัตถุประสงค์” ที่ รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ระบุไว้ในรายงานวิจัย ซึ่งรายงานนี้มาจากโครงการวิจัยชื่อ “การสังเคราะห์ผลการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย : การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ถือเป็นผลศึกษาชิ้นล่าสุดเกี่ยวกับ “คนไทยรุ่นใหม่”

ที่รายงานวิจัยนี้เรียกว่า.. “ประชากรดิจิทัลของไทย”

ประชากรกลุ่มที่นับวันยิ่งมีบทบาทต่อสังคมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อเรื่องนี้ โดยในรายงานวิจัยชิ้นนี้ รศ.ดร.จุลนี และคณะ ได้ค้นพบผลการศึกษาเกี่ยวกับ “ประชากรดิจิทัลของไทย” ในหลากหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนมุมมอง ทัศนคติ พฤติกรรม และผลกระทบที่เกิดขึ้น ของประชากรไทยกลุ่มนี้ โดยเหตุผลที่คณะวิจัยต้องการศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากสังคมไทยจำเป็นที่จะต้อง “เข้าใจ-รู้จักตัวตน” คนกลุ่มนี้ เพราะเป็น “กุญแจสำคัญ” ต่อ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) ที่ในอนาคตประชากรเหล่านี้จะยิ่งทวีความสำคัญ และมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่ออนาคตประเทศไทย …นี่เป็นเหตุผลในการศึกษาวิจัย

ในรายงานนี้ ทาง รศ.ดร.จุลนี และคณะ ได้มีการจำแนก “ประชากรดิจิทัลของไทย” ออกเป็น 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ… กลุ่มเจเนอเรชั่น Y และ กลุ่มเจเนอเรชั่น Z เนื่องจากเป็นประชากรที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับการมี การใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้เลือกลงลึกศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่เป็น ชาวดิจิทัล 2 รุ่น ได้แก่… ผู้ที่มีอายุระหว่าง 13-23 ปี ที่จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่” และ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 24-38 ปี ที่จัดให้เป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า”

สำหรับ “คุณลักษณะเด่น” ของ “ชาวดิจิทัลไทย” ที่ผลการศึกษานี้ได้ค้นพบนั้น พบลักษณะที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… “ชาวดิจิทัลไทยรุ่นใหม่” มีอัตลักษณ์โดดเด่น ได้แก่… มีความทันโลก มีศักยภาพทางเทคโนโลยี เป็นคนปรับตัวได้รวดเร็ว มีมุมมองความคิดหลากหลาย อย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ทั้งหมดจะมีคุณลักษณะดังกล่าว หากแต่ จะแตกต่างกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม พื้นฐานครอบครัว และช่วงวัย ของแต่ละบุคคล

ขณะที่อีกประเด็นน่าสนใจคือ… ทั้งชาวดิจิทัลไทย และชาวดิจิทัลสากล จะเหมือนกันในเรื่องของการเปรียบเทียบเชิงคำศัพท์ เช่น… มีการหยิบยืมคำนำมาเปรียบเทียบตัวเองเป็นเหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ… มักเปรียบเปรยชีวิตในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยหรือเครียดว่า… “รู้สึกแบตหมด…ขอไปชาร์จพลังก่อน” …นอกจากนี้ ด้วยความที่โครงสร้างทางสังคมนั้นย้ำให้คนรุ่นใหม่ต้องทันข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ตลอดเวลา จึงเกิดลักษณะเด่นขึ้นมา เช่น… พฤติกรรมการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อติดต่อกัน ที่มีทั้งกลุ่มเพื่อน ครอบครัว การเรียน การทำงาน รวมถึง มักชอบคาดหวังให้คนอื่นตอบกลับเมื่อส่งข้อความไปให้ …นี่เป็น “ลักษณะเด่น ๆ” ที่พบในกลุ่ม “ชาวดิจิทัลไทย”

อีกทั้งยังพบว่า… ด้วยโครงสร้างสังคมที่ย้ำให้คนรุ่นใหม่ต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ประกอบกับระบบการเรียนรู้ และการทำงานกับการใช้ชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลา กรณีนี้ก็ได้ส่งผลทำให้คนรุ่นอื่น ๆ มักจะมองว่า… “คนรุ่นใหม่ใจร้อน?-คนรุ่นใหม่ไม่อดทน?” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ… คนรุ่นใหม่ถูกผูกติดกับข้อกำหนดด้านเวลา และระบบผลิตที่ใช้ระยะเวลาน้อย…แต่ต้องได้ผลผลิตสูง นั่นเอง โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้ คนรุ่นใหม่มีนิสัยต้องการความรวดเร็ว สะท้อนผ่าน “ความนิยม” ในการใช้ “อีโมจิ-สติกเกอร์-สัญลักษณ์” เพื่อการสื่อสาร…เพราะช่วยให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ “ชาวดิจิทัลไทย-ชาวดิจิทัลสากล” จะมีลักษณะบางประการที่คล้ายกัน เช่น ชอบค้นหาตัวตน มีตัวตนที่หลากหลาย ชอบสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นตัวเอง และมั่นใจในตนเอง แต่ก็ มีบางอย่างที่ต่าง ที่ยังไม่พบในชาวดิจิทัลสากล ได้แก่… ความเป็นคนตลก” ซึ่งความตลกนี้ เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการความเครียดของคนรุ่นใหม่ ทั้งยังนิยมนำมาใช้เพื่อเสียดสีหรือเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม การเมือง เพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง และการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

และอีกประการที่ต่างจากชาวดิจิทัลสากลก็คือ… ชาวดิจิทัลไทยโดดเด่นในการ “เปิดใจ-ปรับตัวได้ไว” ซึ่งความสามารถในการเปิดใจและปรับตัวได้รวดเร็วเช่นนี้ ส่งผลต่อการเปิดกว้างทางความคิด และยังทำให้ คนรุ่นใหม่มีความพร้อมที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ดีมากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ …เป็น “ลักษณะเด่น ของ “ชาวดิจิทัลไทย”

แต่ทั้งนี้ ชาวดิจิทัลไทยก็มี คุณลักษณะเชิงลบ??? ที่พบได้มากกว่าชาวดิจิทัลสากล นั่นคือ… ลักษณะของการที่ “เป็นคนชอบเหยียด!!!” ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้ ได้ยอมรับว่า… พบการเหยียดหยามผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกออนไลน์ ที่มักจะกระทำผ่านกระบวนการทำให้เป็นเรื่องตลก อาทิ… การตัดต่อภาพ การทำมีม (meme) การใช้ข้อความล้อเลียนเสียดสี ซึ่งเป็นลักษณะของการดูหมิ่นเหยียดหยามที่ถูกซ่อนไว้ในรูปแบบของการ “แซวเล่น”

นี่คือบางส่วนจาก “ข้อค้นพบ” ใน “ประชากรดิจิทัล”

ใน “ประชากรดิจิทัลไทย” ยังมีข้อค้นพบอื่น ๆ อีก…

จะเด่น-จะด้อยอะไรอีก???…ตอนต่อไปมาดูกัน…