รศ.นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส หัวหน้าภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ให้ความรู้ พาสัมผัสเอกลักษณ์ความงาม ตามรอยเส้นสีที่มีมนต์เสน่ห์ในงานจิตรกรรมไทย ศิลปะไทยว่า จิตรกรรมไทยมีหลักฐานทางโบราณคดีให้ศึกษาชื่นชมมายาวนาน การสร้างสรรค์ศิลปะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม ธรรมชาติ หรือศิลปกรรมจากต่างประเทศ ฯลฯ เป็นเหมือนบันทึกบริบททางประวัติศาสตร์

“จิตรกรรมไทยมีวิวัฒนาการ มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชาติ จิตรกรรมไทยมีลักษณะเฉพาะมีความงามความประณีต เส้นสายอ่อนหวาน โดยความประณีตความละเอียดเส้น สีมีผลมาจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา การจัดแบ่งจิตรกรรมไทยกล่าวถึง จิตรกรรมลายเส้น โดยที่เก่าแก่ ช่างไทยโบราณจะนำเหล็กแหลมขูดหรือขีดบนหินชนวน เพื่อให้เป็นร่องลึก

จิตรกรรมเอกรงค์ หากนึกภาพคือสีเดียว ส่วนอีกประเภท จิตรกรรมพหุรงค์ เป็นจิตรกรรมที่เขียนระบายด้วยสีหลากสี ยุคสมัยปัจจุบัน จิตรกรรมไทยพัฒนาปรับตัวเข้ากับบริบททางสังคม มีศิลปะร่วมสมัยเข้ามบัญญัติจิตรกรรมจึงแยกออกไปอีกโดย จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมแบบโบราณ อย่างที่กล่าวในสามรูปแบบข้างต้นเป็นจิตรกรรมที่อนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอดตามคติโบราณ

อีกประเภทที่มีความใกล้เคียงกัน จิตรกรรมแนวประเพณี จิตรกรรมที่ได้กลวิธี ได้ลักษณะคติความคิด ความงามบางอย่างของจิตรกรรมแบบประเพณี นำมาปรับประยุกต์เข้ากับตัวศิลปินหรือยุคสมัยมากขึ้น อาจมีการผสมผสานเทคนิคหรือมีวิธีการที่ต่างไปจากเดิม แต่มีเค้าโครงของงานศิลปะแบบประเพณีอยู่

ส่วน จิตรกรรมร่วมสมัย ส่วนนี้มีความอิสระเป็นลักษณะจิตรกรรมที่เท่าทันยุคสมัย ปรับเปลี่ยนเดินไปตามบริบทของสภาพแวดล้อม ถ้ามองให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ หัวหน้าภาควิชาศิลปะประจำชาติ รศ.นิโรจน์ อธิบายโดยสรุปว่า จิตรกรรมไทยแบบประเพณีเป็นแบบดั้งเดิมแบบเก่าโบราณ ขณะที่ จิตรกรรมแนวประเพณีคือ ตรงกลาง มีทั้งความเก่าและใหม่ที่นำมาปรับประยุกต์กัน ส่วนร่วมสมัยใหม่ เป็นแนวคิดแบบสมัยใหม่ ใช้เทคนิค วิธีการ วัสดุอุปกรณ์ที่มีความหลากหลายมากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งนี้ฉายให้เห็นภาพรวม ความเป็นเอกลักษณ์งานจิตรกรรมไทย

จิตรกรรมไทยแต่ละยุคสมัยมีลักษณะเฉพาะ มีเอกลักษณ์ความงามพิเศษ น่าค้นหา รศ.นิโรจน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จิตรกรรมไทยมีรายละเอียด มากด้วยภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ของช่างเขียนโบราณ อย่างจิตรกรรมสมัยอยุธยา ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ การใช้สีบางเบามาก

“คนโบราณจะเตรียมพื้นสำหรับเขียนภาพ การเขียนบนผนังจะทำพื้นผนังโดยใช้กาวผสมกับดินสอพอง ผนังจะมีสีขาวนวล การลงสีถ้าต้องการให้สีเข้มจะใช้สีละลายนํ้าให้น้อย ให้มีเนื้อสีมาก หรือถ้าต้องการสีเทา นำสีดำมาเจือนํ้าบาง ๆ ระบายลงไป ส่วนหนึ่งนี้เป็นลักษณะกระบวนการสร้างสรรค์ของช่างสมัยอยุธยา ภาพที่ออกมาจึงนวลตา อีกทั้งสีในภาพมีไม่มาก นำสีที่มีอยู่รอบตัวในธรรมชาติ นำมาใช้สร้างสรรค์”

แต่แม้จะมีสีในภาพไม่มาก แต่ช่างโบราณได้ค้นคว้าทดลองดั่งนักวิจัย หัวหน้าภาควิชาศิลปะประจำชาติรศ.นิโรจน์ ขยายความเล่าเพิ่มอีกว่า ลักษณะสีในงานจิตรกรรมสมัยอยุธยาจากที่กล่าวทั้งการใช้สีและเทคนิคระบาย มี ความเบาบางแต่มีความลงตัว และด้วยการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร อาคารทางพุทธศาสนาขนาดเล็ก ผนังหนาทึบ หน้าต่างน้อยหรือบางสถานที่ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูทางเข้าออก ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนประดับด้วยสีที่มีความเบาบาง เมื่ออยู่ในพระอุโบสถลักษณะนี้ จึงมีความลงตัว

ยุคสมัยต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ถ้าสังเกตจะพบว่า สีในงานจิตรกรรมต่างไปจากเดิม จากที่กล่าวมีปัจจัยหลายด้านทั้งจากสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ อีกทั้งองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมเพิ่มขึ้น สามารถสร้างอาคารหลังใหญ่ ๆ เจาะช่องหน้าต่างได้กว้างให้แสงเข้ามาได้มาก ตัวสถาปัตยกรรมมีความโอ่โถง ฯลฯ

อีกทั้งมีการนำสีเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีการเขียนภาพ รูปลักษณ์ของสีในงานจิตรกรรมไทยจากที่มีไม่มากก็เพิ่มมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องเขียนสีให้บางเบา สามารถระบายทับกันได้ เขียนภาพบรรยากาศ เขียนทิวทัศน์ พื้นดิน ต้นไม้ด้วยสีที่เยอะขึ้น แน่นขึ้น แต่ไม่ทึบ ฯลฯ”

รศ.นิโรจน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จิตรกรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 จิตรกรที่เป็นที่กล่าวถึงคือ ขรัวอินโข่ง ผลงานของท่านมีรูปแบบการเขียนแบบตะวันตก มีบรรยากาศทัศนียภาพ ทิวทัศน์ อาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเข้ามาอยู่ในงานจิตรกรรมไทย ฯลฯ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเป็นต้นแบบส่งต่อในยุคถัดมา

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีช่างจากยุโรปเข้ามา การสร้างสรรค์งานจิตรกรรมช่วงเวลานั้นได้รับอิทธิพล แต่ปรับประยุกต์ รักษาคุณค่าความงาม ความเป็นเอกลักษณ์ศิลปะไทยสืบสานไว้ไม่สูญหาย จวบปัจจุบันการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยแบบโบราณยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง คลี่คลายสู่การสร้างสรรค์ สร้างงานจิตรกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่น

“จิตรกรรมไทยแบบประเพณีในปัจจุบันปรับตนเองไปอยู่ในหลายพื้นที่ นอกจากจะได้ชม ศึกษาความงามจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมไทยในปัจจุบัน ศิลปินสร้างสรรค์ถ่ายทอดความงามไว้บนเฟรมผ้าใบ เขียนบนผืนผ้า เขียนบนแผ่นไม้ นำลวดลายไทยออกแบบประดับตู้ ตั่ง เนกไท ฯลฯ สร้างความต่าง ความหลากหลาย ส่งต่อถึงการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะไทย”

จิตรกรรมไทยมีเส้นโครงสร้าง ลวดลายอ่อนหวาน งามประณีต หากนึกถึงงานแกะสลักจะเห็นถึงความพิเศษ เห็นลวดลายความงาม จากการเรียนการสอนของเพาะช่าง ในส่วนของภาควิชาศิลปะประจำชาติในปีแรกผู้เรียนจะได้รับความรู้งานช่างแบบโบราณ เรียนรู้กลวิธี เรียนรู้วัสดุอุปกรณ์ ฯลฯ อย่างงานด้านจิตรกรรมไทยจะต้องฝึกคัดลอก เขียนลวดลายไทยให้แตกฉาน แม่นยำ ทั้งนี้พื้นฐานการร่างภาพมีความสำคัญ

หัวหน้าภาควิชาศิลปะประจำชาติ รศ.นิโรจน์ เล่าถึงบรรยากาศการเรียนเพิ่มอีกว่า จากนั้นจะเริ่มระบายสี เขียนลาย ตัดเส้นเครื่องทรง ฝึกเขียนก้อนหิน เขียนต้นไม้ ฯลฯ โดยจะเขียนเป็นส่วน ๆ โดยที่ยังไม่ได้ประกอบกันเป็นเรื่องราว จากนั้นจึงจะเริ่มเขียนคัดลอกฝาผนัง โดยขั้นตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสี หรือวัสดุอุปกรณ์จะทำขึ้นใช้เองตามแบบโบราณ อย่างการเขียนภาพพุ่มไม้ พู่กันเหมือนปัจจุบันยังไม่มี จะ ใช้เปลือกไม้ เปลือกกระดังงานำมาทุบปลายให้แหลกแล้วนำขอปลายแหลมนำมาเกลี่ยให้เป็นฝอยจากนั้นนำไปจุ่มสีฝุ่นนำมาเป็นอุปกรณ์ในการวาด จะเกิดเป็นพุ่มไม้ขึ้นมา ฯลฯ

การเรียนการสอนจะย้อนไปในบรรยากาศนั้นนำเปลือกกระดังงานำมาเป็นพู่กัน นำมาแต้มระบายสี ฯลฯ ส่วนการเรียนชั้นปีต่อมาเป็นการหาแนวทางส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สืบสานศิลปะไทยแบบโบราณและจิตรกรรมไทยร่วมสมัย เป็นบริบทส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สืบสานความดั้งเดิม

ย้อนถึงเรื่องสีซึ่งมีความสำคัญ รศ.นิโรจน์ เล่าทิ้งท้ายเพิ่มอีกว่า สีในงานจิตรกรรมไทยถ้าเป็นเทคนิคไทยแบบดั้งเดิมใช้ สีฝุ่น หรือแม้แต่ทั่วโลกก็ใช้สีฝุ่น แต่จะต่างกันในสิ่งที่นำมาผสมอย่าง สีฝุ่น (พิคเมนท์) ผสมกับนํ้ามันและอื่น ๆ ก็เป็นสีนํ้ามัน ส่วนสีของไทยจะผสมกับกาวยางไม้ และการที่สีจะยึดเกาะบนผนังได้ดี จากที่กล่าวจะต้องมีการเตรียมพื้นผนัง นำกาวที่ได้มาจากยางไม้จากเม็ดมะขามนำไปผสมดินสอพองซึ่งในส่วนนี้มีรายละเอียดหลายขั้นตอน แต่เมื่อได้ส่วนนี้แล้วจะนำไปทำพื้นเพื่อเขียนรูปเพิ่มความแข็งแกร่ง ความสวยงามให้กับงานจิตรกรรม

ส่วนกาวยางไม้ กาวกระถินจะนำมาผสมกับสีฝุ่นใส่ลงในโกร่งบดยา หรือถ้าเป็นในสมัยโบราณจะใส่ลงในกะลามะพร้าว มีท่อนไม้นำมากวนกาวและสีให้เข้ากัน เมื่อวาดระบายสีจะติดทนทาน คงสภาพเดิมได้ยาวนาน เห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาที่ยังคงฉายความงามให้ศึกษา ชื่นชมมาถึงปัจจุบันในหลาย ๆ สถานที่ คงอยู่เป็นแหล่งศึกษา แหล่งค้นคว้าความงานจิตรกรรมไทย แต่อย่างไรก็ตามด้วยกาลเวลาและความชื้นก็มีส่วนทำให้กาวละลาย ภาพจิตรกรรมฝาผนังหลุดร่อน เสียหายลง

อีกส่วนสำคัญจิตรกรรมไทยจะปิดทอง โดยสมัยรัตนโกสินทร์จะปิดทองเหลืองอร่ามงดงาม นำมาตัดเส้น ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้เขียนมีทั้งสีผสมกาวและทองคำเปลว อีกทั้งสีต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในงานจิตรกรรมยังสื่อความหมาย อย่างเช่นสีแดง ใช้กับสิ่งที่เป็นทิพย์บนสวรรค์ ความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ และสียังสื่อสารบ่งบอกบริบทอีกมากมาย เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าความงดงาม ความวิจิตรในงานจิตรกรรมไทย

ศิลปะไทยซึ่งทรงคุณค่าและเอกลักษณ์.