ทำไมต้องเป็น “วันแห่งสับปะรด” ?

ในประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดให้ วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันแห่งสับปะรด” (パイナップルの日-Painappuru no Hi) ซึ่งเกิดจากการเล่นสำนวนในภาษาญี่ปุ่นก็คือคำว่า パ(8)イ(1)ナ(7)ップル (Painappuru) ที่แปลว่า สับปะรด นั่นเอง นอกจากนั้น สับปะรด ยังเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด Okinawa ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

สับปะรด เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ลำต้นมีขนาดสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร การปลูกสามารถปลูกได้ง่ายโดยการฝังกลบหน่อหรือส่วนยอดของผลที่เรียกว่า จุก เปลือกของผลสับปะรดภายนอกมีลักษณะคล้ายตาล้อมรอบผล เป็นผลไม้เขตร้อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสามของโลก โดยรัฐฮาวายเป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรดที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และในปี ค.ศ. 2016 คอสตาริกา, บราซิล และฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนการผลิตสับปะรดเกือบ 1 ใน 3 ของโลก

รู้หรือไม่? นอกจากจะรสชาติแสนอร่อยจนหลาย ๆ คนโปรดปรานแล้ว “สับปะรด” ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายเลยล่ะ !

สรรพคุณทางสารเคมี มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนชื่อบรอมีเลน (bromelain) ช่วยการย่อยในระบบทางเดินอาหาร มีเกลือแร่, วิตามินซีจำนวนมาก และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อรักษาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ และนำไปใช้ในการผลิตเบียร์เพื่อป้องกันการตกตะกอนทำให้เบียร์ไม่ขุ่น

สรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยบรรเทาอาการแผลเป็นหนอง, ช่วยขับปัสสาวะ, แก้ร้อนกระสับกระส่าย, กระหายน้ำ, แก้อาการบวมน้ำ, ปัสสาวะไม่ออก, บรรเทาอาการโรคบิด, ช่วยย่อยอาหารพวกโปรตีน, แก้ท้องผูก, เป็นยาแก้โรคนิ่ว, แก้ส้นเท้าแตก, ส่วนของรากสับปะรด นำมาใช้เป็นยาแก้กระษัย, บำรุงไต, ช่วยในการฆ่าตัวอ่อนของหนอนแมลงวัน

นิยมนำมาทำเป็นอาหารหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่ม อาหารคาวและหวาน รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ถ้าอยากรับประทานให้ได้สารอาหารครบถ้วนต้องรับประทานแบบผลไม้สด ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ควรรับประทานในช่วงท้องว่าง เนื่องจากมีเอนไซม์และกรดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ 

รู้หรือไม่? กิน “สับปะรด” อย่างไรไม่ให้แสบลิ้น!

  • แช่น้ำเกลือ โดยหั่นเป็นชิ้นและแช่ทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อลดความเป็นกรดและเอนไซม์ลง ช่วยให้สับปะรดขับความหวานได้มากขึ้น
  • ตัดแกนกลางทิ้ง บริเวณแกนกลางจะมีปริมาณเอนไซม์มาก หากตัดทิ้งแล้วจะช่วยลดปริมาณของเอนไซม์ลงได้
  • แช่เย็น การแช่เย็นช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ลดลง
  • นำไปปรุงสุก เอนไซม์จะเสื่อมสภาพที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ดังนั้นการนำไปปรุงอาหารประเภทอื่น ๆ จะช่วยให้ลดการระคายเคืองได้

ด้วยสรรพคุณของสับปะรดที่มีมากมายหลายชนิด จึงได้มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรมเพื่อนำมาผลิตเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย การอักเสบ และมะเร็งบางชนิดอีกด้วยล่ะ!