ดังนั้นนี่จึงเสมือน “สหรัฐยั่วหยามจีน” และ “จีนย่อมไม่ยัวะไม่ได้” เพราะจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตน ซึ่งถึงวันนี้จีนแอ็คชั่นโต้อย่างไรแล้วบ้าง?? มีผลกระทบกับสถานการณ์โลกอย่างไรแล้วบ้าง?? ก็ดังที่คงจะทราบ ๆ กัน…

“ศึกรัสเซีย-ยูเครน” ถึงวันนี้ก็ “ยังไม่ยุติ”

แล้วโลกก็ต้องหวั่นอีกกับ “จีน-ไต้หวัน”

โดยที่มีต้นตอจาก…“เกมอำนาจโลก??”

ทั้งนี้ กรณี “รัสเซีย-ยูเครน” ที่มี “สหรัฐอเมริกา” เกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญนั้น ไม่นานมานี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้พลิกแฟ้มนำเสนอแง่มุมที่เกี่ยวกับ “เกมอำนาจโลก” ไปแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งจากบทวิเคราะห์โดย สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร ปริญญาเอกกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปารีส จากหนังสือ สนามดุลแห่งอำนาจ ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ พ.ศ. พัฒนา และได้เคยมีการนำเสนอเป็นรายงานพิเศษในหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ช่วงต้นปีต่อเนื่องถึงก่อนกลางปี ค.ศ. 2016 ซึ่งกับ “เกมอำนาจโลก” ก็มีการระบุถึง “กรณีไต้หวัน”

กรณี “ไต้หวัน” ที่ก็อยู่ใน “เกมอำนาจโลก” โดยยึดโยง “จีน” นี่ก็เช่นกัน…คือ “สหรัฐอเมริกา นั้นก็ “เกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญอีกนั่นแหละ!!” ซึ่งกับแง่มุมจากแหล่งข้อมูลดังที่ระบุข้างต้น หลักใหญ่ใจความบางช่วงบางตอนโดยสรุปนั้นมีว่า… เมื่อครั้ง “ยุคสงครามเย็น” ระหว่างฝ่ายสหรัฐกับฝ่ายสหภาพโซเวียต ในช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐต้องอาศัยจีนร่วมสู้ และได้ยอมรับเงื่อนไขที่จีนตั้งไว้ คือ “จีนเดียว” และ “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน” แต่…ในข้อเท็จจริงสหรัฐก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไต้หวัน โดยออกกฎหมายพิเศษเพื่อรับรองฐานะของคณะผู้แทนไต้หวันในสหรัฐ ซึ่งได้รับเอกสิทธิ์-ความคุ้มกันในลักษณะเดียวกันกับคณะทูตทั่วไป

นี่ฉายภาพ “วิธีเล่นเกมอำนาจของสหรัฐ”

“ถ้าหากการเจรจาปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไต้หวันเกิดขึ้นในขณะที่จีนมีกำลังอำนาจอย่างในขณะนี้ สหรัฐคงไม่อาจใช้วิธีนี้” …เป็นหลักใหญ่ใจความอีกส่วนจากบทวิเคราะห์ และรวมถึงมีส่วนที่ฉายภาพ “การเดินเกมรองของจีนในช่วงนั้น” คือ… จีนในขณะนั้นยังอ่อนแอกว่าสหรัฐมาก เพราะเศรษฐกิจของจีนยังล้าหลัง… และยังมีภัยคุกคามจากกองทัพสหภาพโซเวียตที่ตั้งเรียงรายตามชายแดน จึงจำต้องยอมรับสถานการณ์เดิมของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ไต้หวัน แต่ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นสัมพันธ์ทางการทูต

ถึงกระนั้น ฝ่ายสหรัฐก็ยอมจีนในเรื่องสำคัญที่สุดทางการเมืองการทหาร ยอมรับเป็นทางการใน “แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้” ค.ศ. 1972 จะ “ถอนทหารสหรัฐออกจากไต้หวัน” ซึ่งก็… “เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าสหรัฐเห็นจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีศักยภาพเป็นอภิมหาอำนาจตั้งแต่ในช่วงที่จีนยังเป็นประเทศที่ล้าหลังมาก และยังไม่ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัย จึงได้ยอมในสิ่งที่สำคัญเช่นนี้…” ซึ่งนี่ก็ฉายภาพว่า…

“จีนก็เด่นในเกมอำนาจโลกมาแต่ต้น!!”

และเมื่อโฟกัส “เกมอำนาจโลก” จากแง่มุมจากบทวิเคราะห์แค่บางช่วงบางตอนดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มนำมาสะท้อนข้างต้น นี่ก็น่าจะพอ “ตอบโจทย์” สถานการณ์ “สหรัฐ VS จีน” ในยุคหลัง ๆ มาจนถึงปัจจุบันได้ในระดับหนึ่งแล้ว ว่า… “เหตุใดสหรัฐจึงพยายามต่อต้านจีน??” และ… “เหตุใดจีนจึงไม่ยอมลงให้กับสหรัฐ??” ซึ่งหากโฟกัสโดยมี “ไต้หวัน” เป็น “เบี้ยในเกมอำนาจ” ด้วยบทวิเคราะห์ก็ชี้ไว้ว่า…

“หากมองในแง่การเมือง ก็แสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังให้ความคุ้มครองไต้หวันอยู่โดยปริยายแม้จะยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน อีกทั้งยังเป็นการแสดงว่าสหรัฐเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างเป็นทางการ การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐ…”

นี่ก็บ่งชี้…“เหตุที่จีนยัวะมากในตอนนี้??”

ทั้งนี้ “เกมอำนาจโลก” นี่ถามว่า… “ไทยเกี่ยวเหรอ??” “คนไทยเกี่ยวอะไร??” ก็ขนาด “ศึกรัสเซีย-ยูเครน” ซัดกันอยู่แถบยุโรปตะวันออก ยังมีผลลบเกี่ยวลามถึงไทย-คนไทย แล้วถ้ากรณี “ไต้หวัน” ที่อยู่ในเอเชีย “มีเหตุบู๊ตามเกมอำนาจโลก” ขึ้นล่ะ??… ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ทันมีบู๊ “ไทยก็พลอยติดบ่วงเกมอำนาจ!!” โดยทางจีนระบุดักคอเมื่อ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า… “จีนเชื่อว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นมิตรประเทศของจีน จะยึดมั่นในความเที่ยงธรรมและความเป็นธรรมของหลักสากล สนับสนุนความพยายามของจีนในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน…ซึ่งไทยก็ต้องรีบแสดงท่าทีว่า… “ไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว”

จีนจวกยับ “สหรัฐจะทำลายจีนเดียว??”

ไทยก็ต้องบอก “ไทยยึดมั่นจีนเดียว??”              

แล้ว “สหรัฐล่ะ??…คิดยังไงกับไทย??”.