สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และปัญหาเนื้อหมูภายในประเทศไทยมีราคาแพง ห่างหายไปจากพื้นที่ข่าวประมาณ 2-3 เดือน แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วปัญหาเรื่องหมูๆ ได้กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เกี่ยวกับปัญหาเนื้อหมูจากต่างประเทศทะลักเข้ามาวางขายในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายเล็ก รวมทั้งเขียงหมู และอาจมีผลต่อสุขอนามัยด้วย โดยมีการพูดถึงว่าน่าจะลักลอบเข้ามาทางเรือ มาขึ้นที่ท่าเรือในจ.ชลบุรี แล้วเล็ดลอดหูตาของเจ้าหน้าที่ออกมา

ทำให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือต้องชี้แจงว่าเนื้อหมูต้องนำเข้ามาในตู้ปรับอุณหภูมิความเย็น ไม่เช่นนั้นจะเน่าเสีย และเป็นไปได้ยากที่จะขนมาเป็นตู้ๆ เล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ออกไป แต่อาจเป็นไปได้ที่จะขนปะปนมากับสินค้าชนิดอื่นที่ต้องการความเย็นตลอดเวลา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทีมข่าว “Special Report” ได้สนทนากับ “เสี่ยตู่” คนรุ่นใหม่ในแวดวงธุรกิจหมูอย่างครบวงจรในแถบพื้นที่ จ.นครปฐม-ราชบุรี เกี่ยวกับปัญหา “หมูนอก” ทะลักเข้ามาวางขายในประเทศไทย และมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายเล็กในระยะยาว

โอกาสทอง “หมูขุน” ฟันกำไรเละ!

“เสี่ยตู่” บอกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาหมูเป็นๆ พุ่งขึ้นไปกก.ละ 114-116 บาท ทำให้เนื้อหมูชำแหละขยับขึ้นไปถึงกก.ละ 250 บาท เนื่องจากปริมาณหมูเป็นๆหายไปจากตลาดจำนวนมาก เพราะเกิดโรค ASF ระบาด หมูทยอยตายหมดเล้า ทั้งรายเล็ก รายกลาง ยังกลับมาเลี้ยงไม่ได้ เนื่องจากเคลียร์เชื้อโรคไม่ได้ วัคซีนไม่มี ลูกหมูมีราคาแพง แถมยังมาเจอปัญหาอาหารสัตว์แพงเข้าไปอีก

เกษตรกรรายเล็ก รายกลางต้องหยุดเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีหมูขุนเข้าถ่วงดุลอำนาจกับรายใหญ่ เท่าที่ทราบฟาร์มของรายใหญ่ก็โดน ASF ลงไปหลายฟาร์ม มีหมูตายไปหลายฟาร์ม รวมทั้งฟาร์มใหญ่ในราชบุรี เพิ่งเจอ ASF ระบาดไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่รายใหญ่จะคล่องตัวกว่ารายเล็ก คือรู้เร็ว แก้เร็ว และเคลียร์เชื้อโรคได้เร็วกว่า จึงใช้เวลาไม่นานในการกลับเข้ามาเลี้ยงหมูอีก

ปัจจุบันราคาหมูเป็นๆ หน้าฟาร์มอยู่ที่กก.ละ 108-110 บาท แต่ถ้าไปจับจริงๆ ราคาอาจจะบวกขึ้นไปอีกกก.ละ 2-4 บาท โดยราคาหมูเป็นๆ กก.ละ 108-110 บาท ถือว่าอยู่ในระดับราคาแพง และนายทุนรายใหญ่ยังต้องการดันราคาขึ้นไปอีก เนื่องจากทราบดีว่าผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อย ไม่มีหมูขุนออกมา เพราะไม่มีลูกหมู และไม่มีทุน

แต่ราคาหมูเป็นๆในระดับนี้ ก็มีคนกล้าเสี่ยงที่จะเลี้ยงหมูช่วงนี้ เพราะราคามันยั่วยวนใจ ตอนนี้คนเลี้ยงหมูไม่มีใครบ่นเรื่องราคาหมู เนื่องจากราคาแพงเป็นที่น่าพอใจ แต่บ่นกันเรื่องค่าอาหารสัตว์แพง ค่าไฟฟ้าแพง

“บ่นกันไปอย่างนั้นแหละเรื่องอาหารสัตว์แพง ต้นทุนการเลี้ยงสูง แต่ไม่มีใครบ่นเรื่องราคาขายหมูเป็นๆ เอาเป็นว่าผมอยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี ยังไม่เคยเห็นราคาหมูเป็นๆ แพงแบบนี้ ในอดีตเลี้ยงหมูได้กำไรตัวละ 500-1,000 บาท ถือว่ามีความสุขแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ฟาร์มเล็กๆ ก็เลี้ยงได้กำไรตัวละประมาณ 3,000 บาท (ตัวละ 100 กก.) ถ้าจับหมูขาย 100 ตัว ได้กำไรแล้ว 300,000 บาท ผมยกตัวอย่างฟาร์มเล็กๆ ที่มีต้นทุนตั้งแต่ ลูกหมู-ค่าอาหาร-ค่าบริหารจัดการ จะมีต้นทุนตัวละประมาณ 8,000 บาท แต่จับหมูขายได้ตัวละประมาณ 11,000 บาท คือกำไรไม่ต่ำกว่าตัวละ 3,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นฟาร์มใหญ่ๆ ต้นทุนเขาจะถูกกว่า 8,000 บาท อย่างแน่นอน กำไรจึงมากกว่าตัวละ 3,000 บาท”

นี่คือสิ่งยั่วยวนใจว่าทำไมจึงมี “หมูนอก” ลักลอบนำกันเข้ามา จะโดยช่องทางไหนก็แล้วแต่ เพราะราคาหมูนอกถูกกว่าบ้านเรามาก เนื่องจากต้นทุนของเขาต่ำกว่า ต้นทุนหมูนอกที่ชำแหละแล้วอาจจะอยู่ประมาณกก. 50-60 บาท แต่เขามาวางขายตีตลาดในประเทศไทยกก.ละ 160-170 บาท แค่นี้พ่อค้า แม่ค้าเขียงหมูในตลาดสดก็ตายแล้ว

ย้ำ!เคยแนะนำหน่วยงานรัฐไป3เรื่อง

ถามว่าทำไมจึงมีสภาพแบบนี้ ทำไมจึงมีหมูนอกทะลักเข้ามามากในภาคเหนือ ไม่เฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลางก็มีหมูนอกเข้ามาวางขาย เนื่องจากราคาหมูเป็นๆ ในบ้านเรายังแพงอยู่เกิน 100 บาทต่อกก. เพราะปริมาณลูกหมู และหมูขุนอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่เป็นคนกำหนดราคา ไม่มีเกษตรกรรายย่อย รายเล็กคอยถ่วงดุลอำนาจ คาดว่าประมาณไตรมาส 2 ของปี 66 จึงจะมีหมูขุนของเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก ทยอยออกสู่ตลาดได้ประมาณ 70-80% ถึงวันนั้นคงทำให้ราคาหมูเป็นๆ ปรับตัวลงบ้าง เมื่อราคาหมูในประเทศถูกลง คนก็จะไม่ลักลอบนำหมูนอกเข้ามา เพราะมันเสี่ยง และได้กำไรไม่คุ้มค่าใช้จ่าย

แต่วันนี้การลักลอบนำหมูนอกเข้ามา หักค่าใช้จ่ายต่างๆ หมดแล้วยังได้กำไรตู้ละ 200,000 บาท ใครก็อยากทำ เพราะปัจจุบันมีหมูนอกจากยุโรปมากมาย ดังนั้นจึงมีคนเสี่ยงที่จะลักลอบนำเข้ามา เพราะหมูในประเทศไทยยังมีราคาสูงอีกหลายเดือน จนกว่าเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก จะกลับมาเริ่มเลี้ยงหมูได้มากขึ้นในช่วงปลายปี 65 และถ้าไม่มีหมูนอกทะลักเข้ามาบ้าง ป่านนี้คนไทยคงต้องบริโภคหมูชำแหละในราคากก.ละ 250-300 บาท

“ผมเคยแนะนำผ่านพื้นที่ของเดลินิวส์ ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นปี 65 แล้วว่า 1.ให้รีบแก้ปัญหาเรื่องวัคซีน ต้องส่งเสริมการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF หรือช่วยหาช่องทางการนำเข้าวัคซีน เพราะปัญหานี้ฟาร์มใหญ่ ทุนใหญ่จะขยับตัวได้เร็ว เคลียร์เชื้อโรคได้เร็วกว่าและดีกว่าฟาร์มเล็กๆ หน่วยงานรัฐช่วยจัดการเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว 2.ปัญหาเงินทุน วันนี้ฟาร์มย่อย ฟาร์มเล็กไม่มีทุน รัฐจะช่วยอย่างไร และ 3.เปิดให้นำเข้าหมูเป็นช่วงระยะเวลา อย่างมีระบบ ต้องเปิดเผยจำนวนการนำเข้าหมูกันบนโต๊ะ เพื่อไม่ให้ราคาหมูในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว จนเป็นเหตุผลจูงใจให้มีหมูนอกทะลักเข้ามา เจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าระวังและตรวจสอบกันไม่ไหวหรอก” เสี่ยตู่ กล่าวทิ้งท้าย.