เกือบตลอดทั้งเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่เดือนเดียว ยอดติดเชื้อสะสม 337,986 ราย ผู้เสียชีวิต 2,834 ราย (1 -31 ก.ค.64) ถึงแม้ว่าข้ามมาเดือน ส.ค. ทาง ศบค.ตัดสินใจยกระดับมาตรการคุ้มเข้มล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้ง เจ้าโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เพราะยอดบางวันพุ่งทะลุเกินเพดาน ติดเชื้อรายใหม่ เกิน 2 หมื่นคน ผู้เสียชีวิตเกิน 200 คนไปแล้ว

โศกนาฏกรรมโควิดครั้งนี้ในประเทศไทย คงต้องบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ถ่ายทอดให้รุ่นลูกหลาน เมื่อมีผู้คนเจ็บป่วยล้มตายราวกับใบไม้ร่วง เสียชีวิตกันตามท้องถนน ตรอกซอกซอย สิ้นใจคาบ้านระหว่างรอคิวจะไปรักษาตัว เป็นเรื่องจริงไม่ใช่เฟคนิวส์ บรรดาบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า หน่วยงานเกี่ยวข้อง มูลนิธิกู้ภัย หรือบรรดาจิตอาสา ทำงานหนักล้นมือ อีกทั้งยังต้องอยู่กับความเสี่ยงผู้ป่วยติดเชื้อโควิดมาตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. ยิ่งมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เห็นยอดติดเชื้อผู้ป่วยและเสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายคนถึงกับพูดไม่ออกบอกไม่ถูก

น่าห่วงกลุ่ม “ผู้สูงอายุเสียชีวิตต่อเนื่อง

ทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมบูลย์ ขวัญอ่วม หัวหน้าแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิด ระลอกนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิฯ ทำงานค่อนข้างหนัก เพราะมีทั้งต้องส่งต่อผู้ป่วยโควิดไปตามสถานพยาบาล นอกจากนี้ก็ยังรับศพผู้เสียชีวิตจากโควิด ส่งต่อไปทำพิธีฌาปนกิจตามวัด ขั้นตอนการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล มูลนิธิจะนำส่งผู้ป่วยที่มีการระบุถึงปลายทางว่า โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามแห่งไหน โดยเราจะไม่ส่งต่อคนไข้ที่ไม่มีการระบุปลายทาง แต่ตอนนี้มีหลายคนที่แจ้งมาว่าให้มารับที่บ้าน ถ้าตรวจเองจากชุดตรวจโควิดที่ซื้อมาเองซึ่งเราก็ไม่สามารถนำส่งไปได้  คนไข้จำเป็นต้องประสานกับโรงพยาบาลตรวจอย่างละเอียดด้วย

กรณีที่ป่วยฉุกเฉินและมีอาการหนัก ทางมูลนิธิจะนำส่งโรงพยาบาลเป็นรายกรณี โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโควิดแล้วไม่รู้ตัวเอง บางคนยังคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา อยู่บ้านกินยาปกติ แต่พอปล่อยไว้นาน ๆ อาการลุกลามร้ายแรงขึ้น ซึ่งเคสแบบนี้ในกรุงเทพฯ เริ่มมีเยอะมาก อยากแนะนำว่าถ้าเริ่มมีอาการต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้ได้ผลชัดเจน

การส่งต่อผู้ป่วยตอนนี้ทางมูลนิธิทำงานช่วยเหลือร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เฉลี่ยการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลมีวันละไม่ต่ำกว่า 15 ราย ส่วนนี้มูลนิธิจะจัดสรรกำลังพลโดยให้ อาสาสมัคร ที่ผ่านการฝึกอบรมเรื่องโควิดแล้วทำหน้าที่ส่งต่อ ส่วน เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ จะรับผิดชอบในการนำศพของผู้ป่วยโควิดไปยังโรงพยาบาล หรือฌาปนกิจที่วัด สำหรับการทำงานของมูลนิธิ ระยะแรก ๆ ของการระบาด จะมีศพผู้ป่วยให้ส่งต่อเฉลี่ยวันละ 1–2 ราย แต่พอระบาดในระลอก 3 มาจนถึงระลอกนี้ จากผู้ป่วยก็ขยับกลายมาเป็นมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ต้องส่งต่อศพผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 14-20 ราย จากการทำงานพบว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโควิดมาจากหลายปัจจัย เช่น นอนรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน บางรายนอนรอเตียงจนเสียชีวิต หรือบางท่านที่เสียชีวิตก็ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโควิด โดยมักจะมีอาการป่วย แน่นหน้าอก ไอจาม แต่บางรายก็ไปหาหมอมาแล้วกลับมารักษาตัวที่บ้านแล้วเสียชีวิต เกือบทั้งหมดจะเป็นผู้สูงอายุ

ขั้นตอนเก็บศพโควิดต้องใช้เวลา

หัวหน้าแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวต่อว่า ตอนนี้ทางมูลนิธิพยายามดูข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ถึงยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในทุกวัน เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอการส่งต่อและผู้ที่เสียชีวิตได้ทัน แต่ก่อนที่ อาสาสมัคร จะมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ต้องผ่านการฝึกฝน ซึ่งตอนนี้มูลนิธิยังได้ฝึกกำลังพลเพื่อเตรียมพร้อมหากสถานการณ์แย่กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ แบ่งกำลังเป็น 2 ส่วน
คือ ชุดแรก จะแยกออกมาทำหน้าที่ช่วยเหลือและเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิดโดยเฉพาะ ส่วน ชุดสอง จะช่วยเหลือประชาชน
ในเหตุปกติทั่วไป ตอนนี้เราได้เพิ่มรถที่จะลำเลียงผู้เสียชีวิตจากโควิดจากแรกมีเพียง 2 คัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 6 คัน โดยเป็นรถที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในระหว่างการส่งต่อ

สิ่งที่น่าห่วงคือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเกี่ยวกับโควิด แทบไม่มีเวลาพักผ่อน เนื่องจากทั้งวันต้องวิ่งเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิด จนบางคนแทบจะไม่มีเวลากินข้าว เราเลยพยายามเพิ่มกำลังพลไม่ให้เจ้าหน้าที่อ่อนเพลียจนส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือประชาชน ด้วยความที่ศพของผู้ป่วยโควิดตอนนี้มีมาก ทำให้เจ้าหน้าที่อาจไปยังจุดเกิดเหตุช้าบ้างต้องคอยประเมินหากมีศพที่เร่งด่วน เช่น เสียชีวิตบนท้องถนน กลางตลาด หรือเสียชีวิตในรถจะต้องเร่งไปในจุดนั้นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่นกับประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนั้น

มูลนิธิฯ แบ่งงานเป็นเวร “กะกลางวัน” และ “กะกลางคืน” โดย 1 ทีม แบ่งเป็น 3 ชุด แต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ 4-5 คน โดยรถที่ใช้ช่วยเหลือจะใช้ร่วมกันทั้งกลางวันและกลางคืน ทีมช่วยเหลือจะรอแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ขั้นตอนเก็บศพผู้ป่วยโควิด จะต้องมีวิธีการ ไม่สามารถไปถึงแล้วเก็บศพได้เลยเหมือนอุบัติเหตุทั่วไป เจ้าหน้าที่ชุดนี้จะต้องสวมใส่ชุดป้องกันทุกส่วน เพราะไม่รู้ว่าในพื้นที่ที่ผู้ป่วยเสียชีวิต ไอจามไว้บริเวณไหนบ้าง ขั้นตอนทำงานไม่สามารถเร่งรัดได้ ต้องค่อย ๆ ทำอย่างรัดกุมตามขั้นตอนฝึกอบรม เพื่อความปลอดภัยของทุกคน โดยให้ร้อยเวรกับแพทย์พิสูจน์การเสียชีวิต ก่อนนำร่างใส่ในถุงเก็บศพที่จะซ้อนกันหลายชั้นแล้วบรรจุลงในโลง เมื่อญาติรับทราบแล้วถึงจะลำเลียงศพไปฌาปนกิจที่วัด ซึ่งแต่ละวัดที่รับทำพิธีจะมีช่วงเวลา ดังนั้นอาสาจะต้องจัดแบ่งเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้เรื่องของการถอดชุดป้องกันของเจ้าหน้าที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน จะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยชุดป้องกัน เมื่อนำศพขึ้นรถแล้ว เจ้าหน้าที่จะทิ้งชุด และบรรจุในถุงขยะ พอถึงวัดเจ้าหน้าที่จะต้องนำชุดป้องกันอันใหม่มาใส่ พอเสร็จพิธีทางวัดแล้วจะถอดชุดนั้นใส่ถุงนำไปทิ้งต่อ การที่ต้องเปลี่ยนชุดป้องกันบ่อย ๆ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าชุดป้องกันไปสัมผัสกับจุดเสี่ยงตอนไหน ยิ่งขณะนี้มีศพของผู้ป่วยโควิดเยอะ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้ชุดพีพีอีไม่ต่ำกว่า 100 ชุดต่อวัน

แม้กระทั่งการขับรถเพื่อนำส่ง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดแอร์ในรถเพื่อให้อากาศภายในรถถ่ายเท และต้องระมัดระวังในการทำงานอย่างมาก เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ติดขึ้นมา 1 คน คนอื่น ๆ ก็ต้องทำการกักตัว หรือเราเองอาจกลายเป็นตัวกระจายเชื้อเสียเอง ทุกวันนี้ก็ไม่กล้าไปจอดรถพักในพื้นที่ไหน เพราะกลัวชาวบ้านจะหวาดกลัว เนื่องจากบนรถจะติดสติกเกอร์ ว่ารับส่งผู้ป่วยโควิด

ต้องการเพิ่ม ‘น้ำยาฆ่าเชื้อ-ชุดพีพีอี’

นายสมบูลย์ ขวัญอ่วม หัวหน้าแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อยากจะแนะนำประชาชนว่า หากมีผู้เสียชีวิตจากโควิดอยู่ในพื้นที่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ โทรฯ แจ้งตำรวจในพื้นที่ หลังจากนั้นร้อยเวรจะขอรายละเอียดข้อมูลกับทางญาติ ส่วนนี้อยากให้ญาติให้ข้อมูลอย่างชัดเจน โดยไม่ปกปิดเพราะบางรายพอบอกไม่หมด แล้วเรามารู้ภายหลัง ก็เป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุก ๆ คน จากการทำงานเราได้เห็นภาพผู้ติดเชื้อบางรายในบ้านมี 6 คนติดเชื้อทั้งหมด ในอาทิตย์แรกเรารับศพออกมา 1 ศพ ญาติ ๆ ร้องขอให้นำเถ้ากระดูกกลับมาส่งให้ด้วย เพราะในบ้านไม่มีใครออกไปได้ พออาทิตย์ถัดมาก็มีอีกคนในบ้านเสียชีวิตอีก ถือเป็นเรื่องเศร้าแม้จะพยายามช่วยอย่างเต็มที่แล้ว

ตอนนี้สิ่งที่มูลนิธิฯต้องการคือ “น้ำยาฆ่าเชื้อ” และ “ชุดพีพีอี” ที่ต้องใช้จำนวนมาก ไม่รู้ว่าโควิดจะหยุดระบาดเมื่อไร แต่มูลนิธิฯยังต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือตลอด  24 ชม. ไม่ว่าจะเหตุการณ์ไหนก็ตาม.