ปัญหาไวรัสโควิค-19 ระบาดอย่างต่อเนื่อง 3 รอบในประเทศไทย และยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลง จึงส่งผลกระทบไปยังหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การจ้างงาน การท่องเที่ยว รวมทั้งทางด้านการศึกษาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงไปด้วย โดยคาดว่าสิ้นปี’64 อาจมีเด็กนักเรียนหลุดนอกระบบการศึกษากว่า 6.5 หมื่นคน โอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเหลือเพียง 10% จากสาเหตุ
ความยากจนเฉียบพลัน และยากจนอย่างถาวรเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองตกงาน ขาดรายได้ และรายได้ลดลง

วิกฤติ 3 เรื่องใหญ่ในวงการศึกษา
วันนี้ทีมข่าว “1/4 Special Report” ติดตามปัญหาวิกฤติการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน กับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สมพงษ์ระบุว่าปัจจุบันมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหลักหมื่นคน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กทั้งในระบบและนอกระบอบการศึกษา หลุดออกจากระบบประมาณ 65,000 คน โดยระบบระดับประถมศึกษาอาจจะมีจำนวนไม่มากประมาณ 4% เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับ ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลาย 48% และในจำนวนนี้เด็กที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยมีเพียง 8-10%

สำหรับปัญหาในระบบการศึกษาไทยที่เข้าขั้นวิกฤติอยู่ในตอนนี้มี 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.การเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี ส่งผลให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้อย่างไม่ต่อเนื่อง และต้องปรับตัวกับการเรียนรู้ตลอดเวลา

2.ถึงแม้จะเปิดโรงเรียน แต่เด็กทั้งในระบบการศึกษาปกติและเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา คือทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย อย่างการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาการตกงาน ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงมาก ส่งผลให้กลายเป็นผู้ยากจนแบบฉับพลันทันใด และยากจนอย่างถาวรไปในที่สุดเพราะยังหางานทำยาก

3.ปัญหาความถดถอยทางวิชาการ เนื่องจากปีที่แล้วต้องปิดเรียนถึง 90 วัน แต่ที่ จ.สมุทรสาคร ปิดเรียนมากที่สุด 6-7 เดือน แต่แค่ 90 วันนั้น ส่งผลต่อความถดถอยทางวิชาการวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และทักษะการอ่าน ถึง 50% ทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษามากในปี 64-65

จัดลำดับความสำคัญของปัญหา-คิดนอกกรอบบ้าง!
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อไปว่าวันนี้รัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญของระบบการศึกษา ต้องรู้จักคิดแบบนอกกรอบกันบ้าง ไม่ใช่แต่ระบบราชการจากบนลงล่าง และอย่าคิดแทนครูไปทุกเรื่อง แต่คุณต้องให้เกียรติและเชื่อมั่นเขา เพื่อครูจะได้ลงไปสำรวจความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง เพื่อออกแบบการเรียนรู้ และออกนอกนโยบายที่ติดกรอบจากบนลงล่าง ซึ่งมีแต่ใบงาน และสั่งการบ้านเด็ก

“ในภาวะวิกฤติโควิด-19 ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ยังใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการ คือมาโรงเรียนบ้าง ใช้บ้านเป็นสถานที่บูรณาการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครองและครู รวมทั้งการใช้ชุมชนเป็นฐานบูรณาการ เพื่อเรียนรู้ทางด้านอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม ไอที และทรัพยากร พูดง่าย ๆ ว่าสอนเป็นโปรเจคท์ใหญ่แบบเวียนฐานบูรณาการกันเรียน ตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้”

นอกจากนี้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม เช่นเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ไม่ใช่กู้มาแจกอย่างเดียว แต่ต้องกันไว้ช่วยเหลือเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาด้วย เพราะเด็กในวัยการศึกษาคืออนาคตของชาติที่ต้องดูแล ไม่ใช่เข้าไปดูแลปัญหาหนี้สินครู เนื่องจากยุคปัจจุบันค่าใช้จ่ายทางการศึกษายังสูงมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมกันประมาณ 5,000-10,000 บาท/คน/ปี

เด็กยากจนพุ่งจาก 7 แสนคน เป็น 1.8 ล้านคน
ขนาดไม่มีไวรัสโควิด-19 พ่อแม่ผู้ปกครองยังเป็นหนี้กันจำนวนมาก แต่เมื่อโควิดระบาด 3 รอบ เงิน 5,000-10,000 บาท กลายเป็นสิ่งหายากของหลาย ๆ ครอบครัว และความสำคัญในเรื่องของปากท้องอาจจะจำเป็นมากกว่าการเรียน ทำให้เด็ก ๆ ทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษา จากปัญหาการตกงาน ขาดรายได้ และรายได้ลดลงมาก ถ้ารัฐบาลไม่รีบเข้ามาช่วยกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเปราะบาง ปัญหาจะย่งิ ลุกลามไปเรื่อยๆ เห็นได้จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยดูแลเด็กยากจนอยู่ 700,000 คน แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,800,000 คน เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก ถ้าไม่รีบเข้าไปดูแล 1,800,000 คน จะเกิดปัญหา
อะไรตามมากับประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ กสศ.อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ปีละ 3,000 บาท/คน แล้วรัฐบาลช่วยเข้ามาอีกคนละ 800 บาท เป็น 3,800 บาท แต่ไม่พอหรอก เพราะค่าใช้จ่ายแฝงทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหารยังสูงอยู่ ไหนจะค่าชุดนักเรียนและชุดเครื่องแบบลูกเสือมีราคาแพง ไม่มีลดราคาเลย รัฐบาลควรเข้าไปแทรกแซงราคาด้วยซ้ำ เพราะเป็นภาระกับพ่อแม่ผู้ปกครองมาก ๆ ถ้ารัฐไม่เข้าไปแทรกแซงราคา ก็ควรผ่อนผันให้การเรียนการสอนในวิชาลูกเสือ ใช้แค่ผ้าพันคอลูกเสืออย่างเดียวก็พอแล้ว

ดังนั้นถ้ารัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไม่ทำอะไรเลย กลางปี 64 เสี่ยงมากที่จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา 3-5% (9,300 คน) ยาวไปถึงสิ้นปี 64 อาจจะถึง 10% ถ้ารวมกับเด็กที่ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย หรือพวก กศน. ตัวเลขจะสูงถึง 15% ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤติของระบบการศึกษาไทย

จี้รัฐบาลซื้อ“ไฟเซอร์”มาฉีดให้นักเรียน
“ตอนนี้ผมงงมากหลังจาก กสศ. ถูกตัดงบประมาณลง 25% กว่า 500 ล้านบาท แล้ววันนี้ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ ถ้าคุณถูกลดเงินเดือนลง 50% คุณจะเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังตกงานในช่วงปิดเทอม ว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง เปิดเทอมแล้วก็จริง แต่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ยังต้องเรียนทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่ต้องจ่ายค่าวางสิทธิ เนื่องจากโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนเอกชนก็ตาม มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ อย่างน้อยคือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร ถ้าไม่เก็บจากพ่อแม่ผ้ปู กครอง โรงเรียนจะอยู่ได้อย่างไร นี่คือปัญหาของการศึกษาไทยที่กำลังกลายเป็นวิกฤติซึมลึกไปอย่างเงียบ ๆ แต่ส่งผลกระทบเสียหายในระยะยาว”

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเร่งจัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้มีการระบาดของโควิด-19 ในนักเรียนซึ่งเริ่มมีบ้างแล้ว ถ้านักเรียน-ครูได้ฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน จะได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ย่อมดีกว่าการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน แล้วครูก็ได้แต่สั่งการบ้าน สั่งทำรายงาน ถ้ารัฐบาลบอกว่ายังไม่มีเงินซื้อวัคซีนดี ๆ มาฉีดให้นักเรียน-ครูก็ต้องไปปรับลดงบประมาณในส่วนอื่นที่ยังไม่จำเป็น เช่น ลดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือควรชะลอออกไปก่อน หรืออาจจะต้องลดเงินเดือน ส.ว. 250 คน ลดเงินเดือนข้าราชการประจำ เพื่อให้เข้าใจหัวอกคนที่กำลังตกงานในช่วงนี้บ้าง.