ข่าวเรื่องข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดให้กับข้าวหอมมะลิผกาลำดวนของประเทศกัมพูชา เพราะกลิ่นหอมน้อยกว่า โดยพ่ายแพ้กันแบบเฉียดฉิว 1 คะแนน ในงานประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ระหว่างการประชุมข้าวโลก ประจำปี 2022 (The World’s Best Rice 2022) จัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พ.ย.65 โดยมีการประกวดสายพันธุ์ข้าวจาก 9 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน จีน และสหรัฐอเมริกา ผลการประกวดปรากฏว่าข้าวหอมมะลิผกาลำดวนจากกัมพูชา ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก ส่วนข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ได้อันดับ 2 และอันดับ 3 คือ ข้าวหอมจากเวียดนาม หลังจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เป็นโต้โผในการส่งข้าวหอมมะลิจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าประกวดเพียง 1 ตัวอย่าง จาก 20 ตัวอย่าง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับ “หมอชัย” นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการเกษตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ และปัจจุบัน “หมอชัย” ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย อีกด้วย

“หมอชัย” กล่าวว่าเรื่องแชมป์พันธุ์ข้าว แชมป์ผู้ส่งออกข้าวของประเทศไทย ล้วนเป็น “มายาคติ” ของบรรดาผู้ส่งออกข้าวที่ใช้ได้ผลมาหลายสิบปี คนอ่านข่าวที่ไม่ได้เป็นชาวนาก็เคลิ้ม! คนในเมืองที่ไม่เป็นชาวนา แต่เมื่อเสพข่าวในลักษณะนี้ก็พลอยเคลิ้มไปกับตำแหน่ง “แชมป์” โดยไม่ได้มองโลกของความเป็นจริงว่านี่คือ “แชมป์โลกของผู้ยากไร้”

ถ้าคุณเสพข่าวจริงๆ ต้องไม่ลืมว่าปีที่แล้ว ข้าวหอมมะลิ 105 ปลูกในภาคอีสานของประเทศไทยคว้ารางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกจากงานประกวดข้าวโลกประจำปี 64 (World’s Best Rice Award 2021) ครั้งที่ 13 จัดโดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐฯ โดยมีผู้ส่งข้าวประกวด 6 ประเทศ คือ สหรัฐฯ จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมา และไทย รวม 11 ตัวอย่าง แและข้าวไทยได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศรวมทั้งหมด 7 ครั้ง จาก 13 ครั้ง

“โอกาสในการทวงคืนแชมป์นั้นมีแน่ และไม่ยากครับ เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นแชมป์แล้วชาวนาได้ประโยชน์อะไรจากความเป็นแชมป์ ในอดีตไทยเคยครองแชมป์มาอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่ความเป็นแชมป์นั้นไม่ได้ให้อะไรที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวนาเลย ดูฐานะของชาวนาไทยในปัจจุบันจะเห็นภาพได้ดี ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล นอกจากจะทวงแชมป์คืนแล้ว ยังต้องทำให้แน่ใจว่า ในทางการตลาด เราจะต้องสามารถเรียกราคาพรีเมี่ยมให้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิของชาวนาไทยได้ด้วย หลายปีก่อนผมมีโอกาสตามประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเกษตรไปดูงานการผลิตและตลาดข้าวที่เกาะไต้หวัน ที่นั่นเขาปลูกแค่เพียงพอกินพอใช้ในประเทศ ราคาข้าวเปลือกชนิดปกติมาตรฐานทั่วไปของไต้หวัน ไม่ได้อยู่ในอันดับใดเลย คือตันละ 27,000 บาท เทียบกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของไทยสมัยที่ยังเป็นแชมป์อยู่แค่ราคาตันละ 15,000 บาท สมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทยคือผู้ที่ได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์สูงสุด จากการเป็นแชมป์ของข้าวไทย แต่หาใช่ชาวนาไม่”

“หมอชัย” กล่าวต่อไปว่าข้าวเป็นพืชที่ปลูกง่าย เลียนแบบกันก็ง่าย ประเทศไหนๆก็สามารถก้าวเข้ามาแข่งขันได้ แต่ในตลาดข้าวต่างประเทศแข่งขันกันรุนแรงมาก ส่วนแชมป์ผู้ส่งออกข้าว หรือแชมป์พันธุ์ข้าว มักจะวนเวียนอยู่แถวๆประเทศไทย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา (แชมป์พันธุ์ข้าวหอมมะลิ) ล้วนแต่เป็นประเทศยากจน ชาวนายากจนกันทั้งนั้น และมีภาระหนี้สินมากมาย

ทวงแชมป์ไม่ยากเลย! แต่อย่าเคลิ้มไปกับ”มายาคติ”

ส่วนการ “ทวงแชมป์” ทำได้ไม่ยากเลย เนื่องจากประเทศไทยมี “กรมการข้าว” มีพันธุ์ข้าวมากมาย มีสถานีวิจัยพันธุ์ข้าว มีศักยภาพเรื่องพื้นที่ปลูก และเทคโนโลยีสูง เรียกว่าของเรา Advance กว่ากัมพูชา ขอเพียงให้เลือกพันธุ์ข้าวอย่างละเอียด เลือกพันธุ์ข้าวดีๆไปประกวด เราทวงแชมป์ได้ไม่ยากเลย

ขณะเดียวกันต้องไปดูด้วยว่าชาวนากัมพูชาที่ปลูกข้าวหอมมะลิผกาลำดวนแล้วได้แชมป์โลก ปลูกได้ข้าวเปลือกไร่ละกี่กิโลกรัม มีต้นทุนไร่ละเท่าไหร่ ขายข้าวเปลือกได้ราคาตันละเท่าไหร่ ชาวนากัมพูชามีฐานะความเป็นอยู่ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือเปล่า?

แต่ตนมั่นใจว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับพ่อค้าข้าว และผู้ส่งออกข้าว เมื่อก่อนมีการไปตั้งสำนักงานกันอยู่ที่เกาะฮ่องกง เพื่อเป็นนายหน้าในการส่งออกข้าวไปยังประเทศที่ 3 อีกที แล้วมาออกตัวว่าได้กำไรนิดๆ หน่อยๆ เพื่อไม่ต้องการเสียภาษีมาก ด้วยการไปตั้งสำนักงานและเปิดบิลกันอยู่ที่ฮ่องกง แต่ปัจจุบันยังทำกันอยู่แบบนั้นหรือเปล่า ตนไม่ทราบ!

“ดังนั้นอย่าไปเคลิ้มกับแชมป์โลกผู้ส่งออกข้าว และแชมป์พันธุ์ข้าว เพราะนี่คือมายาคติ จะมีประโยชน์อะไรกับแชมป์โลกผู้ยากไร้ ทั้งที่การเป็นแชมป์โลกควรจะผูกพันกับรายได้ และฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาให้ดีมากขึ้นกว่านี้ แชมป์โลกต้องพ่วงไปกับผลประโยชน์ของชาวนา ไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวได้ผลประโยชน์ และถ้าไม่จำเป็นอย่าเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกเลย ถ้าพื้นที่ไหนสามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆแทนการปลูกข้าว ต้องรีบส่งเสริมให้ปลูก เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวลงมาอีกหลายล้านไร่ ให้ตัวเลขใกล้เคียงกับการบริโภคในประเทศ แล้วราคาข้าวจะดีขึ้นเอง เหมือนกับที่ไต้หวันปลูกข้าวแค่พอบริโภค แค่พันธุ์ข้าวธรรมดาๆ ไม่มี Ranking ยังขายได้ตันละ 27,000 บาท เพื่อเอาพื้นที่ไปทำอย่างอื่นดีกว่า” หมอชัย กล่าว