ในจำนวนผู้เล่น 26 คนของทีมชาติโมร็อกโก ชุดทำศึกฟุตบอลโลก 2022 มีคนที่เกิดในประเทศตัวเองแค่ 12 คน

ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดในบอลโลกหนนี้

ผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีม ลืมตาดูโลกในต่างประเทศ มีทั้งสเปน, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยียม

ทุกคนสามารถเลือกเล่นทีมชาติให้ประเทศที่ตัวเองเกิดได้ไม่ยาก แต่พวกเขาเลือกเล่นให้ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของตัวเองอย่างแท้จริง

แต่ละคนมีที่มาต่างกัน ยาสซีน บูนู ผู้รักษาประตู เกิด ที่มอนทรีออล, แคนาดา แต่ย้ายกลับมาคาซาบลังกาตั้งแต่ 3 ขวบ

อัชราฟ ฮาคิมี แบ๊กขวาตัวเก่ง เกิดที่สเปน และเติบโตจากระบบเยาวชนของ รีล มาดริด

โรแม็ง ซาอิส เซ็นเตอร์ฮาล์ฟกัปตันทีม เกิดที่ฝรั่งเศส แต่เลือกเล่นให้ โมร็อกโก ตามคุณพ่อ

โมร็อกโก อยู่ทางเหนือของทวีปแอฟริกา ไม่ห่างไกลจากยุโรปมากนัก พวกเขาจึงได้รับผลกระทบจากประเทศในยุโรปอย่างมาก ทั้งด้านดี และไม่ดี

แม้ว่าทั้ง โปรตุเกส, สเปน และฝรั่งเศส ต่างจ้องจะเข้ามายึดครอง โมร็อกโก เพื่อผนึกเป็นดินแดนของตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โมร็อกโก ได้รับวัฒนาธรรม และวิวัฒนาการจากประเทศเหล่านี้เช่นกัน

รวมถึงด้านฟุตบอล ที่นักเตะโมร็อกโก มีโอกาสไปเติบโตในประเทศเหล่านี้ได้มากกว่าชาติแอฟริกาอื่นๆ

มีชาวโมร็อกโก อพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดไปอยู่ประเทศในยุโรปจำนวนมหาศาล จึงไม่น่าแปลกที่นักเตะชุดนี้มีแค่ 12 คน เกิดในโมร็อกโก อีก 14 คน เกิดต่างประเทศหมด ไล่เรียงดังนี้

ยาสซีน บูนู (แคนาดา), มูเนียร์ โมฮาเมดี (สเปน), อัชราฟ ฮาคิมี (สเปน), นูซาร์ มาซราอุย (เนเธอร์แลนด์), โรแม็ง ซาอิสส์ (ฝรั่งเศส), โซฟิยาน อัมราบัต (เนเธอร์แลนด์ – เคยเล่นให้ เนเธอร์แลนด์ ยู-15 ไป 4 เกม), อิลเลียส แชร์ (เบลเยียม), เซลิม อมาลลาห์ (เบลเยียม), บิลาล เอล คานนูส (เบลเยียม – เคยเล่นให้ เบลเยียม ยู15/16/18 รวม 13 เกม)

ฮาคิม ซิเยช (เนเธอร์แลนด์ – เคยเล่นให้ เนเธอร์แลนด์ ยู 20/21 ไป 6 เกม), อานาสส์ ซารูรี (เบลเยียม – เคยเล่นให้ เบลเยียม ยู17/18/21 รวม 14 เกม), ซากาเรีย อบูคาล (เนเธอร์แลนด์ – เคยเล่นให้ เนเธอร์แลนด์ ยู17/18/19/20 รวม 31 เกม), โซฟิยาน บูฟาล (ฝรั่งเศส), วาลิด เชดดิรา (อิตาลี)

อย่างไรก็ตาม ใครคิดว่าเกิดในยุโรปแล้วชีวิตจะสบาย บอกเลยคุณกำลังคิดผิด เพราะความจริงคือตรงข้ามกันเลย

นักเตะหรือความจริงต้องไล่ขึ้นไปถึงพ่อแม่และบรรพบุรุษที่อพยพจากโมร็อกโก มาตั้งรกรากในยุโรป ไม่ต่างจาก “พลเมืองชั้นสอง”

พวกเขาโดนดูถูกเหยียดหยามเป็นเรื่องปกติ พวกเขามีโอกาสไม่ทัดเทียมกับเจ้าของประเทศเป็นเรื่องธรรมดา พวกเขาโดนกระทำย่ำยีจนเป็นเรื่องชาชิน

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีอยู่ที่หนแห่งในโลก ไม่มีใครปฏิเสธได้ ไม่ว่ายังไง เจ้าของประเทศก็ยังคงดูถูกเหล่าผู้อพยพวันยังค่ำ ไม่ว่าจะที่ไหน

ความรู้สึกเหล่านี้ อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง หรือไม่ใช่ก็ได้ ที่ทำให้พวกเขาเลือกเล่นให้ทีมชาติโมร็อกโก ไม่เล่นให้ประเทศผู้เจริญเหล่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตนเองประสบความสำเร็จได้มากกว่า

ถูกต้องที่ ไม่ใช่นักเตะโมร็อกโกทุกคนที่ดีพอจะเล่นให้ชาติใหญ่ๆ แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่เคยถูกทาบทาม แต่ปฏิเสธกลับไปแบบไม่ต้องคิด

ภาพที่ อัชราฟ ฮาคิมี ตรงปรี่เข้าไปกอดกับคุณแม่ของเขาทุกครั้งหลังจบเกม บ่งบอกถึงความอัดอั้น และเรื่องราวความยากลำบากที่เขาต้องผ่านมาได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย

มาถึงวันนี้ “ฟุตบอล” เปิดโอกาสให้ โมร็อกโก เอาคืนประเทศที่เคยเอารัดเอาเปรียบตัวเองได้อย่างสาสม และไม่น่าเชื่อ

พวกเขาไล่ปราบมาหมดแล้วทั้ง เบลเยียม, สเปน, โปรตุเกส คู่แข่งทีมต่อไปที่รออยู่คือ ฝรั่งเศส ที่เคยยึดครองพวกเขาเช่นกัน

เวิลด์คัพ 2022 ครั้งนี้ จึงราวกับเขียนบทมาให้ โมร็อกโก เป็นพระเอกที่ไล่ตามเช็กบิลเหล่าตัวร้ายที่เคยเอารัดเอาเปรียบตัวเอง ไม่มีผิด

แต่อย่าลืมว่า นิยายเรื่องนี้ยังไม่จบ ยังมีไคลแม็กซ์ ที่จะเป็นบทสรุปที่ทุกคนรอคอย

ถ้าคนเขียนบท ที่เป็นใครก็ไม่รู้ จะกำหนดให้ โมร็อกโก เป็นพระเอก และก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้จริงๆ นี่จะอาจะเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ “พลเมืองชั้นสอง” เท่าที่โลกนี้เคยมีมา.