ท่ามกลางอุณหภูมิเย็นสบาย แต่อุณหภูมิสนาม “บุรีรัมย์ มาราธอน 2023” กลับร้อนระอุ ผกผันกับความหนาว บนสนามที่จัดแบบไนท์รัน

การชิงชัยเข้มข้น ทุบสถิติกันแหลกลาญ โดยระยะมาราธอน (42.195 กม.) ถ้าทำได้แค่สถิติเดิม ยังไม่พอต่อการติด 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะฝ่ายชาย ไตตัส คิปกอสไก จากเคนยา สับเข้าเส้นชัย เวลา 2.08.57 ชม. ทุบสถิติบุรีรัมย์มาราธอนเดิม ที่เคยทำไว้ 2.11.46 ชม. และยังเป็นสถิติเร็วสุดในการจัดการแข่งขันที่ไทย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมรับรางวัลโบนัสรวมกว่า 1 ล้านบาท

ขณะที่อันดับ 2-3 ก็ดีกว่าสถิติเดิมเช่นกัน ที่ 2 ฟิกาดู เดเบเล (เอธิโอเปีย) 2.10.49 ชม.และที่ 3 เบนสัน เอ็มวานกี (เคนยา) 2.11.24 ชม.

เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง 3 อันดับแรก พังสถิติเก่า 2.32.41 ชม. ยับ ที่ 1 แอกเนส ไคโน (เคนยา) 2.28.08 ชม., ที่ 2 ลูซี่ คาริมี (เคนยา) 2.28.36 ชม. และ ที่ 3 อาเบรุ เซนเนเบ (เอธิโอเปีย) 2.29.07 ชม.

ส่วนคนไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรก มาราธอนชาย “สัญชัย นามเขต” เจ้าของเหรียญเงินซีเกมส์ ครั้งที่ 30 กดเวลา 2.30.00 ชม.คว้าแชมป์คนไทยและครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นสมัยที่ 4 พร้อมรับเงินรางวัล 50,000 บาทเช่นเดียวกับ ฝ่ายหญิง ลินดา อินทะชิต ได้แชมป์อีกสมัย ทำเวลาได้ 2.51.51 ชม.

สัญชัย กล่าวว่า ปีนี้ประสบความสำเร็จ ทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ พอใจกับสถิติที่ทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว ด้วยอากาศที่ดี มีกองทัพกองเชียร์เป็นกำลังใจตลอดเส้นทาง ทำให้ทำสถิติได้ดีขึ้น ปีหน้าตั้งใจจะทำสถิติให้ดีขึ้น ดีกว่าปีนี้

ด้าน ฮาล์ฟมาราธอน เคนยา ก็ยังผงาด ประเภทชาย ที่ 1 เจมส์ คารันจา 1.05.02 ชม. ทิ้งที่ 2 คินดู ทิรันเนห์ (เอธิโอเปีย) 1.05.34 ชม. และที่ 3 “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ อินนุ่ม คนไทยที่เข้าเส้นชัยระยะนี้คนแรก1.06.05 ชม. ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 18-29 ปี ชาย ที่สถิติเดิมทำไว้ 1.07.58 ชม

“แฝดบิ๊ก” ณัฐวุฒิ กล่าวว่า อากาศปีนี้ดีมาก เส้นทางวิ่งก็ดี เป็นเวลาที่ดีมากๆ แต่เสียดาย ทำลายสถิติประเทศไทย ไม่ได้ เกินไป 40 วินาที แต่สามารถทำลายสถิติของกลุ่มอายุได้ก็ถือว่าพอใจ สำหรับอนาคตในการรับใช้ทีมชาติ รอเก็บความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น เพื่อขยับขึ้นไปแข่งมาราธอนต่อไป

ฮาล์ฟมาราธอน หญิง สาวไทย ยึดที่ 1-2 อรอนงค์ วงศร 1.21.27 ชม., ที่ 2 อรนุช เอี่ยมเทศ 1.28.47 ชม. และ ที่ 3 ดอร์คัส ทารัส (เคนยา) 1.30.09 ชม.

ด้าน มินิมาราธอน ชาย ที่ 1 “เบล” ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม น้องชายฝาแฝดของ “บิ๊ก” ณัฐวุฒิ 32.10 นาที ที่ 2 อีน็อค คีเกน (เคนยา) 32.21 นาที, ที่ 3 อาทิตย์ โสดา 32.24 นาที ส่วนหญิง แชมป์เป็นสาวไทยวัน 16 ปี “น้องดิว” เขมจิรา เชื้ออินทร์ สถิติ 39.20 นาที ทำลายสถิติ กลุ่มอายุ 13-17 ปี หญิง ที่สถิติเดิม 41.09 นาที ที่ 2 ณัฐธิดา เถาหน้อย 40.25 นาที และ ที่ 3 ณัฏฐพร สมิทธิวิโรจน์ 41.24 นาที

ด้วยจำนวนนักวิ่ง มาตรฐานต่างๆ นับว่า “บุรีรัมย์ มาราธอน 2023 พรีเซนเต็ด บาย เครื่องดื่มตราช้าง” ปีที่ 7 ประสบความสำเร็จสวยงาม พร้อมก้าวต่อไปสู่ระดับเหรียญทอง หรือ Gold Label ซึ่งทางทีมจัดงาน ก็หมายมั่นปั้นมืออย่างมาก ที่ได้รับการรับรองให้เป็นมาราธอน Gold Label ให้ได้ หลังจากที่ World Athletics ได้หยุดการมอบเหรียญให้กับงานวิ่งทั่วโลกมาแล้วถึง 2 ปี ซึ่งหากทำสำเร็จจะเป็นงานแรกของไทย

นอกจากมาตรฐานทั่วไป ความร่วมมือร่วมใจจากภาคส่วนต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญ ที่สร้างความประทับใจให้ผู้มาร่วมวิ่ง

ทั้งจุดบริการต่างๆ ตลอดเส้นทาง จุดแพทย์ที่มีถี่ยิบ สเปรย์ น้ำมันนวด ไม่มีขาด ไม่มีหมด

ทีเด็ดที่สุดแสนประทับใจ และทำให้โดดเด่นกว่างานวิ่งอื่นๆ คือกองเชียร์ที่มีตลอดตั้งแต่ออกสตาร์ต จนจบการแข่งขัน แทบจะทุกๆ 1 กม. เสียงดนตรี เสียงโห่ร้องช่วยกระตุ้นพลังนักวิ่งได้อย่างดี

ไม่ใช่แค่ซุ้มกองเชียร์ เวทีดนตรี ความน่ารักคือ ตลอดเส้นทาง มีชาวบ้านมาส่งเสียงให้กำลังใจ เป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงเดินเตาะแตะ ยันผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ยื่นมือมาสัมผัส ส่งแรงนักวิ่ง และทุกคนดูมีความสุขกับการต้อนรับนักวิ่งผู้มาเยือน

บุรีรัมย์ มาราธอน จึงดูเหมือนว่า นอกจากจะเป็นงานวิ่ง ยังเป็นเหมือนเทศกาลหนึ่งของชาวบุรีรัมย์ ประดุจ เทศกาลสงกรานต์ อย่างไรอย่างนั้น ที่ชาวบ้านได้มาสนุก มาต้อนรับแขกกัน ขาดเพียงแค่ ไม่มีการสาดน้ำเท่านั้นเอว

จะเรียกว่าเป็น “เทศกาลวิ่ง” ก็ว่าได้

การยกมาตรฐานสู่เบอร์ต้นของโลก จุดเด่นจุดขายคือความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นับเป็นแรงดึงดูดให้นักวิ่งจากทุกสารทิศต้องมาสัมผัส “เทศกาล บุรีรัมย์ มาราธอน” ด้วยตัวเอง…และเชื่อว่าจะไม่ใช่ครั้งเดียวด้วย.