รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการกำกับการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพสถานี อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร(กม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. เกี่ยวกับแผนการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) และการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อนที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสารต่อไป 

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพู จะทดสอบเดินรถเสมือนจริงช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 66 ซึ่งระหว่างที่ทดสอบฯ กระทรวงคมนาคมต้องการให้เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการช่วงดังกล่าวด้วยเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่เปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีประมาณ 3 เดือน แต่ทางบริษัทฯ ผู้รับสัมปทานแจ้งว่า ทั้ง 2 โครงการมีความล่าช้ามามากแล้ว จึงจำเป็นต้องเปิดให้บริการ และจัดเก็บค่าโดยสารโดยเร็ว เพราะการดำเนินงานมีต้นทุน อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีนานเท่าใด ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าควรให้ประชาชนนั่งฟรีอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งจะเร่งเจรจากับเอกชน และพิจารณาสัญญาสัมปทานเป็นหลักด้วย เพื่อไม่ให้เกิดค่าโง่ภายหลังได้ 

ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ EBM และ NBM กล่าวว่า บริษัทฯ จะทดสอบเดินรถเสมือนจริงในเดือน เม.ย.66 เพื่อตรวจสอบ และประเมินความพร้อมของงานโยธา งานเดินรถ และงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ โดยจะทดสอบจนครบกำหนดตามที่ตกลงกับวิศวกรอิสระ (ICE) ซึ่งในระหว่างการทดสอบ บริษัทฯ ต้องรายงานผลการทดสอบให้ ICE รับทราบทุกวัน จากนั้น ICE จะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง หากผลการทดสอบผ่าน ทาง ICE จะออกใบรับรองความปลอดภัยให้ ทางบริษัทฯ จึงเสนอกระทรวงคมนาคมว่า จะสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยไม่เก็บค่าโดยสารได้ในช่วงที่รอออกใบรับรองฯ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์  

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีเหมือนรถไฟฟ้าสายอื่นประมาณ 1 เดือนนั้น ต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ ด้วย และนำมาหารือกับคณะอนุกรรมการฯ ของกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง ขณะนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีเป็นเวลาเท่าใด อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ยังคงตามแผนเดิมที่จะเปิดให้บริการพร้อมกันตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงสถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว ประมาณเดือน มิ.ย. 66  

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีชมพู จะเปิดให้บริการเป็นบางช่วงก่อน โดยเฟสแรก ช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะเปิดให้บริการในเดือน ส.ค.66 ยกเว้นสถานีนพรัตน์ และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ อย่างไรก็ตามหากสามารถหารือการแก้ไขปัญหากับโครงการฟลัดเวย์บนถนนแจ้งวัฒนะ ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีการก่อสร้างทับซ้อนกันอยู่ได้จบ ในช่วงแรกก็อาจเปิดให้บริการได้ถึงสถานีปากเกร็ด ส่วนช่วงที่เหลือจนถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 66 สำหรับขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้น บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ผู่เจิ้น บอมบาร์ดิเออร์ ทรานสปอร์เทชัน ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ผลิต ส่งขบวนรถยี่ห้อ Bombardier รุ่น Innovia Monorail 300 จากประเทศจีน มาถึงประเทศไทยครบทั้งหมดแล้ว โดยสายสีเหลือง มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้ ส่วนสายสีชมพู 42 ขบวน 168 ตู้ 

ขณะที่เรื่องค่าโดยสารนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนปี 59 เริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุด 42 บาท และจะปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั้งนี้ก่อนเปิดให้บริการจะมีการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยใช้ CPI 3 เดือนก่อนวันที่เริ่มให้บริการ ส่วนระบบตั๋วร่วม ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ผู้โดยสารสามารถใช้บัตร EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) เพื่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ได้อย่างสะดวกสบายนั้น บริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อเปิดให้บริการผู้โดยสารจะสามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และยังสามารถใช้บัตรแรบบิท เข้าสู่ระบบเพื่อใช้บริการได้ด้วย.