“ไข้เลือดออก-โควิด-19”

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ด้านสุขภาพอนามัยของคนไทย จนอาจทำให้มองข้ามประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดอื่นที่มีความชุกในการแพร่ระบาดมากที่สุดในช่วงหน้าฝน คือ “โรคไข้เลือดออก” ซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่นในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศไทยโดยค่าเฉลี่ยใน 3 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเกือบ 100,000 รายต่อปี

“ศ.พญ.อุษา ทิสยากร” กุมารแพทย์ และผอ.ระดับสูง คลัสเตอร์วิจัยอายุรศาสตร์เขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกมานานกว่า 50 ปี ระบุว่า ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดกับคนทุกวัย อาการที่แสดงคือมีไข้สูง 2-3 วัน ปวดหัว ปวดตัว  หน้าแดง  อ่อนเพลีย และแทบจะไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ อาการของโรคมีตั้งแต่ระดับน้อยไปจนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ความต่างที่ชัดเจนของทั้งสองโรคคือ โควิด-19 แพร่จากคนสู่คนได้ แต่ไข้เลือดออกแพร่เชื้อจากพาหะยุงลาย การป้องกันที่ดีคือ ไม่ให้ยุงกัด และทุกคนต้องช่วยกันกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายในบ้าน บริเวณที่พักอาศัยและในแหล่งชุมชน

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการพัฒนาศึกษาวิจัย “วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือด” ออกซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกลุ่มอาเซียนในการนำวัคซีนมาใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออก หากวัคซีนนั้นได้รับการอนุญาตให้ใช้แล้ว

โดยล่าสุดการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกของบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด มีความก้าวหน้าไปมาก อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งผลจากการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ของวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้ผ่านเกณฑ์การประเมินเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากไวรัสทั้ง 4 สายพันธุ์ แล้ว

ทั้งนี้บริษัทจะนำเสนอและเผยแพร่รายละเอียดของข้อมูลการศึกษาทดลองระยะเวลา36 เดือนในการประชุมทางวิทยาศาสตร์และในวารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบในปีนี้และเตรียมขอขึ้นทะเบียนยากับหน่วยงานควบคุมยาแห่งสหภาพยุโรป ละตินอเมริกา เอเชีย และประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยด้วย  

ศ.พญ.อุษา ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ที่ต้องเน้นย้ำประชาชนในการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก คือ การตระหนักถึงความสำคัญของ “การป้องกันโรค” มากกว่า “การรักษา” เพราะไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต และเป็นโรคที่ตอนนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงทำให้ไข้เลือดออก ยังเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชากรโลก แม้การแพร่ระบาดชุกมากในประเทศเขตร้อนชื้น แต่ก็พบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะในภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุเพราะมีการขยายตัวของชุมชนและประชากร

วันไข้เลือดออกอาเซียนปี 2564 (ASEAN Dengue Day) จึงถูกผลักดันให้เป็นวันไข้เลือดออกโลก (World Dengue Day) ครั้งแรกในปีนี้ด้วยเพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในระดับโลกสำหรับการรับมือโรคไข้เลือดออก.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง