ผ่านมาแล้ว 3 เดือน วันประวัติศาสตร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เปิดใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เต็มรูปแบบด้วยการย้ายรถไฟทางไกล สายเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)-ใต้ รวม 52 ขบวน มาใช้สถานีกลางฯ และเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางฯ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 เพื่อใช้ประโยชน์สถานีกลางฯ ให้คุ้มค่า และเป็นศูนย์กลางระบบรางใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ความปั่นป่วนจากปัญหาขบวนรถไฟล่าช้ากว่ากำหนด (ดีเลย์) 3-5 ชม. ในวันแรกถึงวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังเสียเวลาอยู่บ้างจากสาเหตุหลักคือ ขบวนรถที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ปัจจุบัน รฟท.มีหัวรถจักรประมาณ 239 คัน และรถโดยสารประมาณ 1,194 คัน รวม 114 ขบวน (รถไฟทางไกลสถานีกลางฯ 52 ขบวน และสถานีหัวลำโพง เป็นสถานีปลายทางของกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว 62 ขบวน) ทั้งหมดนี้ ไม่สามารถใช้งานได้พร้อมกันทุกคัน ต้องซ่อมบำรุง เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเก่ามาก อายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี

ขณะนี้ รฟท.ให้บริการเดินรถรวม 4,507 กม.เป็นรถไฟทางเดี่ยว 4,097 กม.รถไฟทางคู่ 303 กม. ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ-ลพบุรี 133 กม. ช่วงชุมทางสถานีตลิ่งชัน-สถานีนครปฐม 44 กม. ช่วงสถานีฉะเชิงเทรา-สถานีสัตหีบ 69.8 กม. และช่วงสถานีชุมทางศรีราชา-สถานีแหลมฉบัง 13.4 กม. รวมรถไฟทางสาม 107 กม. ได้แก่ ช่วง รังสิต-ชุมทางบ้านภาชี 60 กม. และช่วงสถานีหัวหมาก-ชุมทางฉะเชิงเทรา 45.82 กม.

รฟท.กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศเพื่อเปลี่ยนถ่ายจาก “ทางเดี่ยว” สู่ “ทางคู่” ประเดิมระยะ (เฟส) ที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท เพื่อช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้อย่างน้อย 30% ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟ เพิ่มความปลอดภัย และทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

เช็กลิสต์โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 1 ก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง 1.ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย 106 กม. 1.02 หมื่นล้านบาท และ 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 187 กม. 2.43 หมื่นล้านบาท อีก 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามแผนเดิมจะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2565 และเปิดบริการปี 2566 แต่จากปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างต้องปรับแผนงานใหม่ทั้งหมด

เริ่มกันที่ “รถไฟทางคู่สายเหนือ” ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 145กม. 2.15หมื่นล้านบาท งานโยธาคืบหน้า 80% สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม 29 กม. 84.28% สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ 116 กม. 7.26% สัญญาที่ 3 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 31.27% เมื่อแล้วเสร็จในปี 2566จะใช้เวลาติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม อีก 1 ปี คาดว่าจะเปิดบริการแบบสมบูรณ์ในปี 2568 รฟท.กำลังพิจารณาว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน อาจเปิดบริการทางคู่โดยใช้ระบบอาณัติสัญญาณฯ แบบเดิมไปก่อน ซึ่งพนักงานขับรถไฟจะทำหน้าที่โยนห่วง และรับห่วงทุกสถานีเหมือนเดิม (เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในการปล่อยขบวนรถ) ระหว่างรอการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ ใหม่แล้วเสร็จ

ต่อกันที่ “รถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)” ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 135 กม. 2.99 หมื่นล้านบาท งานโยธาคืบหน้า 52% สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร 58 กม. 95.72% สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ 69 กม. ยังไม่คืบหน้า สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ 3 อุโมงค์ 94.96% สัญญาที่ 4 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม 17.38%

แม้สัญญาที่ 1 และ 3 งานก่อสร้างจะคืบหน้าไปมากแล้ว แต่งานภาพรวมยังติดปัญหา อาทิ สัญญาที่ 1 และ 3 ผู้รับจ้างยังไม่สามารถรับมอบพื้นที่บางส่วนได้ และสัญญาที่ 2 ผู้รับจ้างยังเริ่มงานไม่ได้ เนื่องจากต้องปรับแบบ และชาวบ้านยังร้องเรียนต่อเนื่อง รฟท.เร่งแก้งานในส่วนต่างๆ ที่เป็นปัญหา เพื่อให้งานก่อสร้าง ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แล้วเสร็จภายในปี 2566 และเปิดบริการปี 2567 ส่วนช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ต้องรอให้ปัญหาต่าง ๆ จบก่อน จึงจะกำหนดแผนที่ชัดเจนได้อีกครั้ง

ส่วน “รถไฟทางคู่สายใต้” 3 เส้นทาง วงเงินรวม 3.39 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน 169 กม. 1.57 หมื่นล้านบาท, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. 5.8 พันล้านบาท และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม. 1.24 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้แบ่งเป็น 5 สัญญา ภาพรวมงานโยธา คืบหน้า 96% สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล 93 กม. 97.16% สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน 76 กม. 95.80% สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. 99.99% สัญญาที่ 4 ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย 88 กม.92.03% สัญญาที่ 5 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร 79 กม. 95.16% คาดว่างานโยธาจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2566

ขณะนี้เริ่มทดลองระบบงานเดินรถแบบทางคู่ในช่วงสัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ แล้ว เบื้องต้นพบว่า เริ่มได้เวลาที่เสียไปคืนมา โดยขบวนรถไฟที่มาจากประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่สถานีหัวหิน ก่อนตารางเวลาประมาณ 20 นาที จะทดลองวิ่งทางคู่ในสัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล เพิ่มเติม และหากสัญญาใดส่งมอบงานได้จะทดลองวิ่งทางคู่ระหว่างที่รอการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จ เพื่อเปิดบริการแบบสมบูรณ์ได้ภายในปี 2567

นอกจากนี้ รฟท.ยังก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่อีก 2 สายใหม่ ผู้รับจ้างเพิ่งเริ่มงาน ได้แก่ สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. 6.68 หมื่นล้านบาท คืบหน้า 0.02% มีแผนเปิดบริการปี 2570 และ สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323กม. 7.29 หมื่นล้านบาท งานโยธา คืบหน้าแล้ว 0.92% มีแผนเปิดบริการปี 2572 จะมาช่วยเพิ่มโครงข่ายและเชื่อมต่อการเดินทาง การขนส่งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวกสบาย

แม้ภาพรวมการก่อสร้างรถไฟทางคู่จะล่าช้าไป 1-3 ปี แต่การจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ พร้อมอะไหล่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 184 คัน (46 ขบวน ขบวนละ 4 คัน) วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ของ รฟท. ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลพิจารณาต่อไป ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ขณะที่ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการ รฟท.เร่งรัดจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศให้ทันใช้งาน รองรับโครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ และทดแทนรถเชิงพาณิชย์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรมลง หากซ่อมบำรุงต้องใช้งบประมาณสูง

ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีข้อเสนอแนะควรใช้แนวทางส่งเสริมภาคเอกชนร่วมให้บริการเดินรถ โดยเลือกเวลาที่ว่างจากการใช้งานของ รฟท. มาเดินรถ และเป็นผู้จัดหาขบวนรถ รวมทั้งจ่ายค่าใช้ทางให้ รฟท. เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่ง และการเดินทาง โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นผลมาจากการศึกษาวิเคราะห์ความจุทาง และจัดสรรเวลาเดินรถ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์ราง และจัดทำกฎระเบียบเพื่อรองรับการขนส่งทางรางในเส้นทางหลักของประเทศ และระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบรางที่ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าอย่างสูงสุด

รฟท.ต้องเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่และจัดหาขบวนรถโดยสารให้เสร็จ มิฉะนั้น “ทางคู่” 1,671 กม. ที่ทุ่มทุนสร้างกว่า 2 แสนล้านบาท จะขาดขบวนรถโดยสารมาวิ่งบริการประชาชน วิสัยทัศน์ที่ รฟท.ประกาศไว้ “เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570” ไม่บรรลุเป้าหมาย

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…