ผลงานก่อสร้างทะลุ 79.408% แล้ว สำหรับ”ทางต่างระดับแยกสนามบินสุราษฎร์ธานี” จุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 (ทล.41) กับ ทล.417 จ.สุราษฎร์ธานี ที่กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณ 1,324,951,800 บาท เพื่อให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ก่อสร้างโครงการนี้โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง เริ่มต้นสัญญาวันที่ 29 ส.ค. 2563 สิ้นสุดสัญญาเดิม 13 ส.ค. 2566 ได้ขยายสัญญาใหม่ถึงวันที่ 3 ม.ค. 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,214 วัน เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 งานก่อสร้างก้าวหน้า 79.408% คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการประชาชนเดือน ธ.ค. 2566 รองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่

พิกัดก่อสร้างอยู่บนจุดตัด ทล.41 (ถนนสายเอเชียหรือสายสี่แยกปฐมพร–พัทลุง) กม.159+450-162+661.451 และ ทล.417 (สายท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี–ค้อล่าง) กม.0+000-0+950 ระยะทาง 4.161 กิโลเมตร (กม.) พื้นที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งลักษณะงานออกเป็น 5 ส่วนดังนี้

สะพานตัวที่ 1 (Ramp R2) ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 15 เมตร ยาว 447.275 เมตร บน ทล.41 รองรับรถจาก จ.ชุมพร เพื่อข้ามแยกไป อ.ทุ่งสง จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง

สะพานตัวที่ 2 (Ramp R1) ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 9.5-12 เมตร ยาว 627.500 เมตร บน ทล.41 รองรับรถที่ออกจากสนามบินสุราษฎร์ธานี ใช้สะพานลง ทล.417 ไป อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี อ.ขนอม อ.สิชล และ จ.นครศรีธรรมราช

สะพานตัวที่ 3 (Road U2) ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ขนาด 1 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 6.5-10 เมตร ยาว 597 เมตร บน ทล.41 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสะพานตัวที่ 2 (Ramp R1) ใช้กลับรถไป อ.ทุ่งสง

สะพานตัวที่ 4 (Box Girder) ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร ทางรถกว้าง 15 เมตร ยาว 93 เมตร บน ทล.41 เชื่อมสะพานตัวที่ 1 (Ramp R2) เพื่อไป อ.ทุ่งสง

สะพานตัวที่ 5 (Minor Bridge) ก่อสร้างสะพานคอนกรีต ขนาด 14 ช่องจราจร ยาว 28 เมตร เป็นสะพานข้ามคลองตัดผ่าน ทล.41

นอกจากนี้ ได้ขยายผิวจราจร ทล.41 และ ทล.417 บริเวณโครงการจากเดิมขนาด 4 ช่องจราจร เป็น 14 ช่อง ทิศทางละ 7 ช่อง พร้อมงานระบบระบายน้ำและบ่อพัก งานไฟฟ้าส่องสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย งานสีตีเส้น และป้ายจราจร

ใจความสำคัญของจุดตัด ทล.41 กับ ทล.417 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างสนามบินสุราษฎร์ธานีกับภาคใต้ฝั่งตะวันออก และต่อเนื่องภาคใต้ตอนล่างกับภาคใต้ตอนบน มีปริมาณการจราจรสูงขึ้น ในระยะ 1 กม. เป็นทางเข้า-ออก สนามบินสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริเวณแยกนี้ การจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

เมื่อทางแยกต่างระดับแล้วเสร็จ จะทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของภาคใต้

ปัจจุบันกรมทางหลวงมีสะพานบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศกว่า 5 หมื่น กม. จำนวน 17,219 แห่ง แบ่งตามประเภทการใช้งาน ประกอบด้วย สะพานข้ามคลอง/ลำห้วย/บึง/อ่างเก็บน้ำ 15,765 แห่ง สะพานข้ามแม่น้ำ 761 แห่ง สะพานข้ามทางแยก/ถนน 376 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟ 156 แห่ง สะพานกลับรถ (เกือกม้า) 120 แห่ง และสะพานทางแยกต่างระดับ 41 แห่ง

ทางแยกต่างระดับ (interchange) เป็นบริเวณทางแยกที่เป็นจุดตัดกันหรือเชื่อมกันของถนนตั้งแต่ 2 สายขึ้นไป มีการแยกระดับของถนนมากกว่าหนึ่งระดับขึ้นไป เพื่อเปิดเส้นทางให้วิ่งฉิวผ่านได้ตลอด ลดจุดตัด ไม่ต้องตัดกระแสการจราจรถนนพื้นราบ

ในการออกแบบทางแยกต่างระดับ กรมทางหลวงใช้แนวคิดร่วมสมัยเน้นประโยชน์ใช้สอยเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดให้เดินทางได้ลื่นไหลคล่องตัวทุกทิศทาง รวมทั้งป้องกันและลดปัญหาอุบัติเหตุ มีรูปแบบต่างๆ อาทิ สะพานข้ามจุดตัดทางแยก ผสมผสานทางลอด วงเวียนยกระดับ (ลอยฟ้า) วงเวียนพื้นราบรูปเลข 8 เป็นต้น โดยพิจารณาจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างและฟังก์ชั่นการใช้งาน

ทางต่างระดับแยกสนามบินสุราษฎร์ธานี นับเป็นสะพานทางแยกต่างระดับแห่งที่ 42 ความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยของประชาชน ที่สร้างได้ เพื่อเพิ่มพลังการเดินทางของภาคใต้

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…