ในเกมฟุตบอลนั้น หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือแฟนบอล ที่จะเป็นผู้สร้างบรรยากาศและสีสันบนสนาม แต่กับการที่แฟนบอลกลุ่มหนึ่งในบ้านเราพยายามสร้างสีสันด้วยการจุดพลุ ล่าสุดเกิดขึ้นหลังเกมชิงแชมป์เอเชีย ยู 17 ที่ไทย แพ้เกาหลีใต้ 1-4 นั้น มันเหมาะสมหรือไม่? ในต่างประเทศเรื่องราวของพลุในสนามเป็นอย่างไร?

ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องของพลุ เราก็มาทำความรู้จักกับเจ้า พลุ ที่ว่านี่กันเสียก่อนดีกว่า พลุที่แฟนบอลนำเข้าไปจุดในสนามนั้น มีทั้งพลุไฟ และพลุควัน โดยพลุไฟนั้น วัตถุประสงค์ในการคิดค้นตั้งแต่แรก คือการนำมาใช้สำหรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ และระบุพิกัดในทางการทหาร

ดังนั้น พลุไฟส่วนใหญ๋จะไม่สามารถดับได้ง่าย ๆ หรือดับได้อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ๋จะใช้เวลาราว ๆ 1 นาทีหรือ 1 นาทีครึ่งจึงจะดับ ส่วนองค์ประกอบของพลุไฟนั้น เป็นสารเคมี และสามารถเผาไหม้ได้ที่อุณหภูมิสูงสุดถึงราว ๆ 1,600-2,000 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ใช้หลอมเหล็กได้เลยทีเดียว

A person holds up a bright burning emergency flare.

ถามว่ามันอันตรายมั้ย? แน่นอนครับว่ามันเป็นวัตถุอันตราย ทั้งจากสารเคมีที่ก่อให้เกืดกลิ่นและความระคายเคือง รวมถึงอันตรายจากอุณหภูมิที่ไม่ต่างจากไฟเวลาใช้งาน

แล้วที่ผ่านมาเคยมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพลุในสนามฟุตบอลแค่ไหน อย่าว่าแต่แค่บาดเจ็บเลยครับ ถึงตายก็มีมาแล้ว…!!!

1992 กิลเญม ลาซาโณ เด็กชาวชาวสเปนวัย 13 ปี เสียชีวิตจากการโดนพลุอัดเข้าที่หน้าอก ที่สนามในนครบาร์เซโลนา

1993 จอห์น ฮิลล์ แฟนบอลชาวเวลส์ วัย 67 ปี เสียชีวิตหลังถูกขว้างด้วยพลุที่ใช้สำหรับขอความช่วยเหลือทางการทหาร หลังเกมของทีมชาติในเมืองคาร์ดิฟฟ์ ซึ่งในครั้งนี้น ผู้ก่อเหตุที่เป็นชาย 2 ราย ถูกพิพากษาจำคุกข้อหาฆาตกรรมโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน

2013 เด็กชายชขาวบราซิลวัย 14 ปี เสียชีวิตจากการโดนพลุไฟขว้างใส่ ระหว่างเข้าชมเกมของโครินเธียส์

2013 ผู้ช่วยผู้ตัดสินได้รับบาดเจ็บ จากการโดนพลุขว้างใส่หลัง ในเกมพรีเมียร์ลีกระหว่าง แอสตัน วิลลา กับ ทอตแนมฮอตสเปอร์

2015 อิกอร์ อคินเฟเยฟ นายทวารทีมชาติรัสเซีย ถูกพลุขว้างใส่หลังจนได้รับบาดเจ็บ ในเกมระหว่างรัสเซีย กับ มอนเตเนโกร

2022 เด็กชายวัย 9 ขวบชาวอังกฤษ หลังหยิบพลุที่ยังไม่ถูกดับ ในเกมรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ที่สนามเวมบลีย์ ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้ที่มือ และมีอาการหายใจไม่สะดวก และในรอบรองชนะเลิศปีนั้น มีผู้ถูกจับกุม 4 ราย ข้อหาพกพาพลุเข้าสนาม

นี่เป็นความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย อันเกิดมาจากพลุในสนามฟุตบอล ซึ่งเชื่อว่ามีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ มันจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่หลายประเทศจะมีการรณรงค์เรื่องการไม่จุดพลุ ไม่ว่าจะเป็นพลุไฟหรือพลุควันในสนาม

ขณะที่รัฐบาลสกอตแลนด์ เพิ่งออกกฏหมายใหม่ระบุว่าการจุดพลุลักษณะพลุไฟหรือหลุควันในอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงในสนามฟุตบอลนั้น เป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับในออสเตรเลีย ที่มันเป็นเรื่อง ผิดกฏหมาย เช่นกัน

ถ้าถามว่า มีที่ไหนในโลกมั้ย? ที่อนุญาตให้แฟนบอลจุดพลุในสนามได้? คำตอบคือ มี

โดยเมื่อปี 2020 สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี หรือ เดเอฟเบ ไฟเขียวให้แฟนบอลของ ฮัมบวร์ก 10 คน จุดพลุควันในสนามได้ ก่อนเกมลีกา 2 ทีม “สิงห์เหนือ” เจอกับ คาร์ลสรูห์ หลังพวกเขาขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

แต่กระนั้น 10 คนที่ว่าจะสามารถจุดได้แค่คนละครั้ง และมีการจำกัดบริเวณให้จุดได้เฉพาะตรงที่ว่างระหว่างอัฒจันทร์กับตัวสนามเท่านั้น และพลุดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงและถังทรายเพื่อดับพลุอยู่ใกล้ ๆ

ขณะที่ภายใต้กฏทั่วไปนั้น เดเอฟเบ ยังคงมีกฏที่เข้มงวดเรื่องการจุดพลุบนอัฒจันทร์ โดยมีบทลงโทษเป็นการปรับเงินซึ่งในฤดูกาลก่อนหน้านั้น ฮัมบวร์ก ก็โดนปรับไปเบาะ ๆ เกือบ 300,000 ยูโร

ขณะที่ภาพที่เราเคยเห็นแฟนบอลจุดพลุบนอัฒจันทร์ ในฟุตบอลลีกหรือเกมทีมชาติจากมุมต่าง ๆ ของโลกนั้น ขอให้เชื่อได้เลยว่าภาพเหล่านั้น ส่งผลตามมาด้วยการถูกลงโทษของสโมสร หรือสหพันธ์ฟุตบอลต่าง ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่มันไม่ได้เป็นข่าวออกมาให้เราได้ทราบเท่านั้น

สลับฉากมาที่บ้านเรา การจุดพลุในสนาม ถือเเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏ” ไม่ว่าจะเป็นกฏการแข่งขันของบ้านเราเอง หรือกฏขององค์กรระดับทวีป อาทิ เอเอฟซี หรือกหระทั่ง ยูฟ่า และ ฟีฟ่า  ก็ผิดกฏทั้งสิ้น อย่างที่เป็นข่าวออกมาก่อนหน้าที่ทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชีย ยู 17 จะเริ่มขึ้นว่าเราเคยโดนปรับเงินเพราะจุดพลุมาแล้ว ถึงวันนี้โดนไปแล้วร่วม 4 ล้านบาท

ขณะที่กรณีล่าสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร จะโดนปรับมากน้อยแค่ไหน หรือจะโดนลงดาบถึงขั้นห้ามแฟนบอลเข้าสนาม หรือแบนจากการเป็นเจ้าภาพรายการต่าง ๆ หรือไม่

และที่น่าเสียดายคือเงินหลายล้านบาทนั้นน่าจะได้เอาไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่กลับต้่องมาเสียไปเปล่า ๆ จากการกระทำของแฟนบอลที่ไม่รับผิดขอบบางกลุ่ม

ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนั้น ทุกคนมีเสรีภาพก็จริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็มีกฏเพื่อวางกรอบให้สังคมนั้น ๆ อยู่ด้วยกันได้อย่างไร้ปัญหา ดังนั้น การจะอ้างเสรีภาพแล้วทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจกฏของสังคมนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่คนมีอารยะเขาทำกัน และที่สำคัญ ถ้าอ้างเสรีภาพเพื่อทำในสิ่งที่ละเมิดกฏได้ คุณก็ควรต้องยืดอกรับผิดชอบในผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองด้วย

ไม่ใช่ทำแล้วไปหลบ ไปแอบ ไม่กล้าเปิดเผยตัว แบบนั้นมันไม่ใช่ลูกผู้ชาย…

ผยองเดช