สภาพอากาศเดือนกันยายนของทุกปี คือตัวชี้วัดว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วม หรือเกิดปัญหาภัยแล้งในปีหน้า ทีมข่าว “1/4  Special Report” เกาะติดการรายงานคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ยังมีฝนตกหนัก 70-80% ของพื้นที่เกือบทุกภาคของประเทศ จากอิทธิพลของร่องมรสุม ยกเว้นภาคใต้ที่มีฝนตกประมาณ 40-50% ของพื้นที่ และยังไม่มีพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่เฉียดเข้าใกล้ประเทศไทย

ทั่วประเทศมีน้ำ 54% – เขื่อนใหญ่น้ำน้อย!

ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ (ณ วันที่ 7 ก.ย. 64) มีปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศจำนวน 38,122 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 54% ของความจุ โดยเขื่อนต่าง ๆ ในภาคเหนือมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 36% เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำ 44% เขื่อนในภาคกลางมีปริมาณน้ำรวมกัน 20% เขื่อนในภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำรวมกัน 72% เขื่อนในภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำรวมกัน 59% และเขื่อนในภาคใต้มีปริมาณน้ำรวมกัน 62%

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการเพาะปลูก การปศุสัตว์ การประปา และการผลักดันน้ำเค็ม ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,696 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35%  ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,668 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 39% ของความจุ เขื่อนแควน้อยฯ จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 399 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 36% ของความจุ และเขื่อนป่าสักฯ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 122 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% ของความจุ ดังนั้นสภาพโดยรวมหลังจากนี้ถ้าไม่มีพายุไต้ฝุ่น เฉียดเข้าใกล้ประเทศไทยช่วงกลางเดือนก.ย.จนถึงต้นเดือนต.ค.64 สถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงจะตามมาในช่วงต้นปี 65

ทางด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ (8ก.ย.64) ว่าแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปริมาณน้ำทั้งประเทศ 43,177 ล้านลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,299 ล้าน ลบ.ม. (54%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 2 แห่ง (อ่างฯนฤบดินทรจินดาและมูลบน)

ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วงวันที่ 8-12 ก.ย.64 บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และตราด เนื่องจากประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ใช้หลักเกณฑ์ช่วยเหลือภัยพิบัติฉบับใหม่ 

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั่วประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาดในพืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ประกาศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรฉบับใหม่ (371/2564) โดยเฉพาะการเยียวยาเกษตรกรที่เดือดร้อนจากปัญหาโรคลัมปี สกินในโค และกระบือ

ทั้งนี้ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ระบุถึง “ภัยพิบัติฉุกเฉิน” ครอบคลุมถึงสาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาด ของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนหรือเป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้น ในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสถานการณ์ภาคเกษตรทุกสาขาอาชีพ ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับกระทรวงการคลัง ประกาศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการเกษตรฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอเพื่อปรับปรุงอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 มีขอบเขตการจ่ายเงินทดรองราชการว่า จะต้องเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้านการเกษตร แก่ผู้ประสบภัยที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนเกิดภัยพิบัติ  ซึ่งมีหลายด้าน  อาทิ ด้านพืช  ด้านประมง  และปศุสัตว์

ลัมปี สกินได้เงินอัตราใหม่กลุ่มแรก

โดยในส่วนของปศุสัตว์มีการปรับเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเกือบทุกชนิดสัตว์ และมีอัตราเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  คาดว่าเกษตรกรผู้ประสบภัยจากโรคลัมปี สกินจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือตามอัตราใหม่ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค–กระบือ ทางกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมโรค ทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันได้ดำเนินการสั่งวัคซีน LSDV ป้องกันโรคลัมปี สกิน เข้ามาเพิ่มอีก 5 ล้านโด๊ส โดยมีการนำเข้ามาถึงประเทศไทยช่วงสัปดาห์แรกเดือนก.ย. 64 ล็อตแรก 2.5 ล้านโด๊ส และจะทยอยเข้ามาอีกในลอตที่ 2 และลอตที่ 3 จนครบ 5 ล้านโด๊ส ซึ่งกรมปศุสัตว์วางแผนจัดสรรวัคซีนไว้แล้วตามหลักรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม ตามสัดส่วนของจำนวนประชากรสัตว์ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยากรณีโค-กระบือ เสียชีวิตจากโรคลัมปี สกิน คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ยื่นเอกสารเข้ามาและผ่านการตรวจสอบตามกระบวนการของกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้วภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะจ่ายจากบัญชีของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง

สำหรับหลักเกณฑ์ฯ ระบุว่าผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยงและการจัดหาอาหารสัตว์ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงินในอัตราไร่ละ 1,980 บาท  แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่  การให้การช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหายให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือโดยดำเนินการช่วยเหลือ

อาทิ โคได้ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 13,000 บาท อายุ 6 เดือน-1 ปี 22,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปี-2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท กระบือ ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท  อายุ 6 เดือน-1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปี-2 ปี 32,000 บาท  อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท

สุกร รายละไม่เกิน 10 ตัว อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท  อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท แพะ/แกะ ไม่เกินรายละ 10 ตัว  อายุ 1-30 วัน 1,500 บาท  อายุมากกว่า 30 วัน 3,000 บาท ไก่พื้นเมือง-ไก่งวง ไม่เกินรายละ 300 ตัว อายุ 1-21 วัน 30 บาท อายุ 21 วันขึ้นไป 80 บาท.