การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ของอินโดนีเซีย จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. 2567 โดยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2552 ที่มีผู้สมัคร 3 คน ได้แก่ นายอานิส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ลงสมัครในนามอิสระ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าการจังหวัดชวากลาง จากพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ ( พีดีไอ-พี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน และพล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จากพรรคขบวนการอินโดนีเซียก้าวหน้า หรือพรรคเกอรินทรา

ทั้งนี้ หลายฝ่ายวิเคราะห์ไปในทางเดียวกัน ว่าคะแนนนิยมของ พล.ท.ซูเบียนโต วัย 72 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และมีโอกาสมาสุดที่จะได้รับชัยชนะ เนื่องจากผู้ที่ลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือนายกีบราน ราคาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา บุตรชายวัย 36 ปี ของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนในระดับสูง และถึงขั้นเคยมีการเสนอแนวคิดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วิโดโดสามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อเนื่องเป็นสมัยที่สาม

อย่างไรก็ตาม การลงสมัครรับเลือกตั้งของรากา เป็นที่ครหาจากหลายฝ่าย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียมีมติ เมื่อไม่นานมานี้ ว่าบุคคลซึ่งเคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับภูมิภาคมาก่อน สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี แม้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์อายุขั้นต่ำ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี นั่นคือ 40 ปี

นายกีบราน ราคาบูมิง รากา และพล.ท. ปราโบโว ซูเบียนโต ในวันรายงานตัวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีศักดิ์ เป็นน้องเขยของผู้นำอินโดนีเซีย เรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายมากขึ้นไปอีก ด้านวิโดโดยืนกราน ว่าไม่เคยมีความคิดให้บุตรชายหรือบุคคลใดในตระกูล เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง และไม่ให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่บุคคลใดอย่างเด็ดขาด สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจของผู้สมัครแต่ละคน และแต่ละพรรคการเมือง

อนึ่ง อินโดนีเซียเคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบผูกขาด โดยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ดำรงตำแหน่งเพียงคนเดียวต่อเนื่องนานถึง 3 ทศวรรษ จนถึงปี 2541 จึงทำให้หลายฝ่ายมีความคิดแก้รัฐธรรมนูญ จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ อยู่ที่สมัยละ 5 ปี และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกินสองสมัย 

ขณะที่วิโดโด วัย 62 ปี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2557 และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้ว ตามที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ

พล.ท.ซูเบียนโต วัย 72 ปี เป็นอดีตทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ และปัจจุบันคือหนึ่งในนักการเมืองแถวหน้าของอินโดนีเซีย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ขณะที่รากายังถือว่าอ่อนประสบการณ์ ทั้งในด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิทางการเมือง โดยชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา ทางตอนกลางของเกาะชวา เมื่อเดือนก.พ. 2564

การที่พล.ท.ซูเบียนโตเลือกรากาให้ลงสมัครคู่กัน บ่งชี้ชัดเจนถึงความต้องการเสียงสนับสนุนจากวิโดโด เพื่อชนะการเลือกตั้ง แล้วก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งหนทางดีที่สุด คือ การเลือก “บุคคลใกล้ชิดที่สุด” กับวิโดโด ให้มาร่วมงาน

นักศึกษาในอินโดนีเซียถือแผ่นป้ายข้อความ เรียกร้อง “ศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกลาง” ระหว่างการชุมุนม ในกรุงจาการ์ตา

ขณะที่อีกเหตุผลของการเลือกรากา น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่มากกว่าครึ่ง ของชาวอินโดนีเซียซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งราว 204.8 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนอายุยังไม่เกิน 17 ปี อนึ่ง อายุขั้นต่ำสำหรับการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย คือ 17 ปี ดังนั้น รากาน่าจะช่วยเรียกคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ไม่น้อย ร่วมด้วยฐานเสียงเดิมของวิโดโด จากการที่พล.ท.ซูเบียนโตให้คำมั่น ว่าจะสานต่อนโยบายของวิโดโด หากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ มีรายงานว่า รากาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว ที่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคเกอรินทรา หมายความว่า รากาจะช่วยดึงคะแนนความสนับสนุนให้กับพล.ท.ซูเบียนโต ได้อีกหลายเท่า

กระนั้น เส้นทางยังอีกยาวไกลกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง เนื่องจากในทุกความชื่นชมย่อมมีผู้ที่ไม่พอใจ จึงมีเสียงวิจารณ์เช่นกัน เกี่ยวกับการที่พล.ท.ซูเบียนโตเลือกรากา ซึ่งยังคงมีประสบการณ์การเมืองเพียงในระดับท้องถิ่น แทนที่จะเลือกบุคคล “มีอาวุโสทางการเมืองมากกว่านี้” แต่เพียงต้องการอาศัย “ความเป็นวิโดโด” เพื่อสร้างความนิยม

ยิ่งไปกว่านั้น รากาตัดสินใจลงสมัครคู่กับพล.ท.ซูเบียนโต ทั้งที่อยู่คนละพรรคกัน โดยรากายังคงเป็นสมาชิกพรรคดีไอ-พี ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับบิดา ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เกี่ยวกับ “เจตนาที่แท้จริง” ของทั้งพล.ท.ซูเบียนโตและรากา

นายกีบราน ราคาบูมิง รากา ปราศรัยท่ามกลางมวลชนฝ่ายสนับสนุน ในกรุงจาการ์ตา

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร รากาจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในต่างประเทศ หากชนะจะถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญบนเส้นทางการเมือง หากพ่ายแพ้ก็ใช่ว่าโอกาสเป็นศูนย์แล้ว ด้วยอายุเพียง 36 ปี เส้นทางการเมืองของรากายังอีกยาวไกล สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกหลายครั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งนี้ ได้รับการบันทึกแล้วว่า หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ “นายกีบราน ราคาบูมิง รากา จากตระกูลวิโดโด”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP