ในที่สุด หลังจากยักแย่ยักยันกันสามรอบ พรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกหัวหน้าพรรคได้  คือ “เสี่ยต่อ”นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค และได้ “นายกชาย”นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ที่น่าจะขึ้นตำแหน่งบ้านใหญ่สงขลาแล้ว มาเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งภายหลังผลเลือกตั้ง ความที่เขาว่าเขาเป็นพรรคประชาธิปไตย มีเสรีภาพในการพูด ก็แสดงความไม่พอใจกันชัดเจน อย่างเช่น กรณีนายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.ระยอง พูดทำนองว่า ..จะเลือกไปทำไมเพราะมันมีล็อคโหวต.. ซึ่งเอาจริง พรรคหาคนที่ “มีบารมีพอจะสู้เลือกตั้ง” ตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้ 

จะเสนอ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานด้านนวัตกรรมของพรรค ก็ไม่ได้มีบารมีดีพอนอกจากภาพลักษณ์ ไม่เคยมีประวัติต่อสู้ทางการเมือง เพิ่งสมัครเข้าพรรคมาไม่นาน มานำพรรคก็น่าจะคุม สส.ไม่ค่อยอยู่ ซึ่งก็รู้ๆ กันว่า สส.ประชาธิปัตย์ส่วนมากก็หน้าเก่า หรือไม่ก็ลูกหลานบ้านใหญ่ หรือมาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่มาดามเดียร์นั้นคนกรุงเทพ ฯ ..พูดง่ายๆ คือ มาดามเดียร์ยังเจาะฐานต่างจังหวัดไม่ได้ ขณะที่ฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์คือภาคใต้ ซึ่งถูกภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ( พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) รุมเจาะยางรัว ๆ ..ถ้าเทียบมาดามเดียร์ กับเมอซิเออร์ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลนั้น จะเห็นได้ว่า นายพิธาพยายามกระจายการลงพื้นที่มากกว่า

เชื่อว่า มาดามเดียร์มีความรักและหวังดีจะนำประชาธิปัตย์ให้กลับมายิ่งใหญ่ เพราะเป็นพรรคที่ดูมีระบบการบริหารแบบประชาธิปไตย มีอุดมการณ์ชัด แต่โลกไม่สวยคือ “มาดามเดียร์คุณสมบัติยังไม่ถึง บารมียังไม่พอ” ถ้าเริ่มจากการเป็นแกนนำในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ประชาธิปัตย์ยึดเขตกรุงเทพชั้นในที่เคยนิยมพรรคกลับมาได้ก่อน แล้วค่อยขยายการโชว์ความสามารถ คิดว่าน่าจะดีขึ้น ..นอกจากนี้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่า มาดามเดียร์ไม่ได้มี “จุดขาย”ที่มีบุคลิกชัดเจนนัก ถ้าเปรียบเทียบกับมาดามอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จุดขายแรกคือลูกผู้นำทางความคิดของพรรค ( ไอ้สโลแกนทักษิณคิด เพื่อไทยทำ มันฟ้องอยู่) จุดขายที่สองคือ การพยายามปั้นซอฟต์พาวเวอร์จนบางคนแถวๆ นี้บอกหลอนไปหมด อะไรก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ ..บุคลิกของมาดามอุ๊งอิ๊งเลยชัดว่า มาเพื่อขายซอฟต์พาวเวอร์

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคที่ถูกครหาว่าล็อคโหวต ทำให้เกิดปรากฏการณ์เลือดไหลครั้งใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เริ่มตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค บ้านใหญ่ระยอง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรังเจ็ดสมัย และเชื่อว่าน่าจะมีเลือดไหลออกอีก…ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค แม้แต่นายชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของพรรคก็ให้สัมภาษณ์ออกมาในแนวไม่พอใจเท่าไรนัก แถมยังมีหลอกเหน็บว่า คนที่ยังอยู่ระวังอย่าให้มีการเอาพรรคไปหากิน ..ซึ่งความหมายเป็นอย่างไรไปคิดเอง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ผ่านสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ คนรักก็เยอะ คนเกลียดก็เยอะ เดิมภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์มันดูดีสำหรับชนชั้นกลางเมืองในกรุงเทพ เขตที่ชนะเลือกตั้งมักจะได้ในกรุงเทพรอบใน และเป็นพรรคขวัญใจคนใต้ เพราะคนใต้ชอบนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และ “บ้านใหญ่ต่างๆ” ในภาคใต้ก็มีหลายตระกูล เช่น บุญญามณี , ธรรมเพชร เอาง่ายๆ ..เคยมีคำพูดว่า ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟลงก็ชนะในภาคใต้

ต่อมา สมัยนายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ ประชาธิปัตย์ทำบทบาทหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง มีการอภิปรายรัฐมนตรี 11 คนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ( รัฐธรรมนูญ 40 เงื่อนไขการอภิปรายนายกฯ ได้ต้องใช้เสียงมากจำนวนหนึ่งซึ่งประชาธิปัตย์มีไม่ถึง เลยอภิปรายรัฐมนตรีแบบคาบเกี่ยวนายกฯ ) ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งต่อมา อภิปรายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมสมัยนั้น เรื่องจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX และกลายเป็นการอภิปรายที่รัฐบาลทำอัปยศ เพราะดันมีมติไว้วางใจไปก่อนการอภิปราย ..สส.ประชาธิปัตย์โวยวายกันใหญ่บอกไม่เคารพระบบรัฐสภา ล็อคโหวตกันง่ายๆ …และวันนี้ คำว่าล็อคโหวตถูกนำมาใช้กับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน

undefined

สมัยรัฐบาลทักษิณ ประชาธิปัตย์มี สส.กลุ่มหนุ่ม เป็น สส.เลือดใหม่ที่ก็เป็นลูกๆ หลานๆ ของบ้านใหญ่เดิม เช่น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ลูกชายนายไพฑูรย์ แก้วทอง นายธนิตย์พล ไชยนันทน์ ลูกชายนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ..ต่อมา สมัยทักษิณ 2 พรรคไทยรักไทยกวาด สส.ได้ 377 เสียง แต่เจาะภาคใต้ได้แค่นายกฤช ศรีฟ้า สส.พังงา เขตเดียว ( ซึ่งว่ากันว่า มีบทบาทช่วยเหลือประชาชนมากในช่วงเหตุการณ์สึนามิ )  ภาคใต้ประชาธิปัตย์ยึด กรุงเทพเหลือแค่ 3 เขต

แล้วนายทักษิณก็โดนตรวจสอบธรรมาภิบาลเรื่องการขายหุ้นเอไอเอสให้เทมาเสคไม่เสียภาษี ตอนนั้นมอบหมายให้นายสุวรรณ วลัยเสถียร มาตอบสื่อ และก็กลายเป็นประโยคคลาสสิค ตอนถูกถามว่า ไม่ผิดกฎตลาดหลักทรัพย์ แต่ผิดจริยธรรมหรือไม่ นายสุวรรณ ตอบว่า ไม่ได้เตรียมตัวมาตอบเรื่องจริยธรรม …ช่วงนั้นก็มีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) เคลื่อนไหวต่อต้านนายทักษิณ และขยายเครือข่ายไปกว้างเข้า จนนายทักษิณต้องประกาศยุบสภาด่วน จัดเลือกตั้งใหม่ แต่ประชาธิปัตย์บอยคอตเลือกตั้ง โดยอ้างว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีเหตุจำเป็นจากการยุบสภา เป็นแค่การฟอกตัวให้นายทักษิณ ว่าถ้าเลือกตั้งกลับมาได้ คือ ฉันทามติประชาชนยอมรับ

ตอนนั้นประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ บอยคอตเลือกตั้งทีก็เท่ากับพรรคไทยรักไทยไม่มีคู่แข่ง ก็ชนะเลือกตั้งทุกเขต แพ้โหวตโนบางเขต ได้ฝ่ายค้านมา 1 คนจากพรรคอะไรก็จำไม่ได้ ต่อมา ศาลปกครองตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะการเลือกตั้งไม่เป็นความลับ อาศัยภาพจากสื่อที่ถ่ายให้เห็นการลงคะแนนของประชาชน ที่คูหาหันออก  ขณะนั้น ม็อบ พธม.มาแรง จนมีข่าวลือว่านายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคไทยรักไทยขณะนั้น จะจัดม็อบมาปะทะวันที่ 20 ก.ย. ที่ พธม.จะเคลื่อนไหวใหญ่ช่วงนายทักษิณอยู่ต่างประเทศ ทำให้ในคืนวันที่ 19 ก.ย. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจ และตั้งคณะกรรมการชื่อย่อ คตส.ขึ้นมาตรวจสอบคดีทุจริตของนายทักษิณ

จากนั้นพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบ จากข้อหาจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง อ้างหลักฐานว่าไปคุยกันที่กระทรวงกลาโหม กรรมการบริหาร 111 คนถูกพักการเมือง 5 ปี กลายเป็นคำว่า “พวกอยู่บ้านเลขที่ 111” ซึ่งไม่รู้เด็กใหม่ๆ เดี๋ยวนี้จำได้หรือไม่ และก็มีการเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ไทยรักไทยเก่าไปตั้งพรรคพลังประชาชน เอานายสมัคร สุนทรเวช ผู้มีแนวคิดขวาจัดขึ้นเป็นนายกฯ ก็ชนะเลือกตั้ง.. แต่มีข่าวแนวๆ ว่า “แม้วไม่ปลื้มเพราะคุมไม่ได้”  อย่างไรก็ตาม สุดท้าย นายสมัครถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะไปจัดรายการชิมไปบ่นไป ถูกตีความเป็นลูกจ้าง

ก็ต้องมีการเลือกนายกฯ ใหม่ และช่วงนั้น พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ร่วมรัฐบาล ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบ จากข้อหาซื้อเสียง ( กลายเป็นบ้านเลขที่ 119 เพราะรวมคนถูกตัดสิทธิ์ 119 คน )  ระหว่างรังแตก ก็มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นไปดีลกับกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ให้ออกมาตั้งพรรคภูมิใจไทย แล้วร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ ซึ่งนายทักษิณที่ขณะนั้นหลบออกไปต่างประเทศอีกรอบ รู้เข้า ก็พยายามดึงนายเนวินกลับมา แต่ก็มีวาทะแห่งปีอีก “มันจบแล้วครับนาย”  ก่อนที่กลุ่มนายเนวินจะไปจับมือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งรัฐบาล ทั้งที่ตีกันจะเป็นจะตายสมัยนายเนวินอภิปรายรัฐบาลชวนและนายสุเทพ เรื่องเอาที่ป่าไม้มาทำ ส.ป.ก.4-01 เอื้อนายทุน ..นี่ก็ได้เห็นแล้วว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ เนวิน ชิดชอบ ที่หลายคนไม่ทราบ - Pantip

พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเสียกระทรวงใหญ่ให้ภูมิใจไทย ไปทั้งมหาดไทย พาณิชย์ คมนาคม และขณะนั้นเกิดกระแสการตั้งรัฐบาลไม่มีความชอบธรรม  เพราะพรรคเสียงข้างมากแตกต้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ซึ่งมีเหตุปะทะรุนแรงสองครั้ง ที่แยกคอกวัวครั้งหนึ่ง และที่แยกราชประสงค์ครั้งหนึ่ง ..นายอภิสิทธิ์ขณะนั้น แก้ปัญหาด้วยการตั้งกรรมการศึกษาแนวทางปรองดอง และบริหารประเทศไปอีกระยะก่อนจะมีการยุบสภา ซึ่งตอนนั้นมี“สายข่าว”อ้างว่าได้เวลายุบแล้วจะกลับมาได้ ก็เลยยุบ แต่คราวนี้นายทักษิณส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ซึ่งจะได้เป็นนายกฯ …สายคนรักแม้วและมีความกังขากับกระบวนการยุติธรรมในคดีแยกราชประสงค์ ก็ไปเลือกเพื่อไทย

แล้วรัฐบาลปูก็ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ใครได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดย คมช.นำโดยสนธิ ถูกล้างมลทินหมด กฎหมายนี้ถูกเรียกว่า พ.ร.บ.สุดซอย ซึ่งประชาธิปัตย์บอยคอตไม่อยู่เป็นองค์ประชุม กฎหมายผ่านวาระสามตอนตีสาม จากนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ได้นำประชาชนลุกขึ้นต่อต้านว่ารัฐบาลไม่มีจริยธรรม และชนชั้นกลางเข้ามาร่วมมากจนกลายเป็นม็อบ กปปส.ขนาดใหญ่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยมีมติว่า ใครจะลาออกจาก สส.ไปช่วยม็อบก็ได้ สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจยุบสภา แต่ประชาธิปัตย์ก็บอยคอตเลือกตั้งอีก และม็อบ กปปส.ก็ขัดขวางการเลือกตั้งในบางหน่วย สถานการณ์หาทางลงไม่เจอ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ทั้งยุบสภา ทั้งพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเพราะโดนคดีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) ไม่ชอบธรรม ..ถูกมองว่า เป็นการย้ายสลับเก้าอี้ให้มั่วไปหมดเพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ได้เป็น ผบ.ตร.

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เข้ายึดอำนาจ แล้วเปลี่ยนวาทกรรมคนดีจาก กปปส.มาเป็นตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ( สังเกตจากที่อดีตนายกฯ รายนี้ชอบพูดว่า ถ้าผมไม่เข้ามาประเทศจะเป็นอย่างไร ) บริหารประเทศอยู่พักหนึ่ง ก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งด้วยกติกาใหม่ ที่พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งไม่ได้เก้าอี้นายกฯ อัตโนมัติ แต่ขึ้นกับการรวมเสียงในสภา ประชาธิปัตย์ในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้า พยายามยึดอุดมการณ์ไม่สนับสนุนเผด็จการทหาร ไม่สนับสนุนเผด็จการรัฐสภา ทุนนิยมเผด็จการในเพื่อไทย ก็เลยประกาศตัวเป็นพรรคทางเลือกที่สาม มีการตั้งกลุ่มนิวเด็มเป็นคนรุ่นใหม่พรรค ..แต่การเมืองมันมีสองขั้ว ทางเลือกที่สามเกิดยาก ประชาธิปัตย์จึงได้ สส.ต่ำกว่า 80 คน มติพรรคให้ไปร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ( พปชร.) ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ทำให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรค

ต่อมา นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์เอง ก็ผลักดันนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ทำให้คนเก่งๆ ตามที่นายชวนว่า อย่างนายกรณ์ จาติกวณิช นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกจากพรรค..และต่อมา ก็มีข่าวลือเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวกในพรรคประชาธิปัตย์มาก เลือดเริ่มไหลออกตั้งแต่สมัยร่วมรัฐบาลประยุทธ์ เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่มีปัญหาเรื่องการส่งตัวผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส.พัทลุง เขต 2 ที่ต้องเตรียมไว้เผื่อ กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่เพราะ สส.เขตนั้นจากภูมิใจไทยโดนคดีอาญาเสียบบัตรแทน ..ปรากฏว่า พรรคไม่ได้เลือกคนที่นายนิพิฏฐ์สนับสนุน , หรืออย่างกรณีนายอันวาร์ สาและ สส.ปัตตานี ก็ออกมาวิจารณ์พรรคเชิงลบบ่อยครั้ง

เสียงครหาเรื่องในพรรคมีการแบ่งกลุ่มเล่นพรรคเล่นพวกมีมาก ใครที่เข้ากับฝ่ายมีอำนาจไม่ได้ก็มีปัญหา  จนพอใกล้ๆ เลือกตั้งใหม่ เลือดไหลออกจากประชาธิปัตย์ไปรวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) เยอะ แม้แต่คนที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคอย่างนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายวิทยา แก้วภราดัย สส.นครศรีธรรมราชก็ไป แต่ไม่บอกเหตุผล ส่วนคนที่ชัดเจนมากคือ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต สส.สมุทรสงคราม ที่ยอมรับว่า “กระแสพรรคสู้เขาไม่ได้” ( แต่ก็ไม่ทราบว่า เลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีบิ๊กตู่เป็นจุดขายแล้ว รทสช.จะได้ สส.เหลือเท่าไร )

ผลการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ได้ สส.แค่ 25 เสียง ก็ต้องเปลี่ยน กก.บห.พรรค ซึ่งวันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงของพรรคดูจะเป็นพายุใหญ่ และคนอยู่ ปฏิกิริยายังกะจะสิ้นท่า อย่างนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ก็ออกมาพูดว่า คนออกไปคือคนไม่รักพรรค คนรักพรรคจริงต้องอยู่ร่วมกันฟื้นฟู ..แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องคับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก ภาพการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคกลายเป็นเรื่องของทั้งความแตกแยก การคงอำนาจให้กลุ่มที่มีอำนาจในพรรค และการไม่เปิดใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นองคาพยพระดับสำคัญของพรรคเท่าใดนัก ดังนั้น การฟื้นฟูพรรคภายใต้การนำของ “เสี่ยต่อ”ที่อาจมีพวกนั่งเฉย ๆมือไม่ช่วยพายก็มี สละเรือก็มี ก็เป็นงานหนัก

นี่คือบทพิสูจน์สำคัญของการทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เลือกตั้งจะได้ สส.เพิ่มหรือไม่ หรือ สส.ในมือยังรักษาไว้ได้หรือไม่

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”