แต่ในส่วนของเวทีความงามที่เขาประกาศตัวว่า “เขาจริงจัง ประกวดระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก” อันนี้คือไม่ใช่แค่มาเดินเอาเก๋ ต้องประเภท beauty brain business คือ สวย มีสมอง ใช้ในเชิงธุรกิจได้ เพราะการลงทุนกับอะไรต่างๆ ในวงการประกวดมันเป็นเม็ดเงินไม่ใช่น้อย เวทีไหนใหญ่หน่อย นางงามก็จะมี“โมเดลลิ่ง”ดูแล เรื่องส่งรูปประกวด พาไปสอนบุคลิกภาพ พาไปทำหน้า หาสปอนเซอร์ชุด ฯลฯ แล้วพอได้หรือไม่ได้ตำแหน่งก็เอาเงินมาแบ่งกัน โมเดลลิ่งหักกี่ % ก็แล้วแต่ … สมัยก่อน โมเดลลิ่งก็มี เขาเรียกพี่เลี้ยงนางงาม มีไว้คอยถลึงตาใส่เวลานางงามตอบอะไรไม่เข้าท่า

การประกวดความงามเฟื่องมากในประเทศไทย คู่แข่งตลอดกาลคือฟิลิปปินส์ ที่มักจะบลัฟกันเองเรื่องตัวแทนใครเก๋กว่ากัน จนบางทีดูกระแสนางงามในฟิลิปปินส์ยังรู้สึกว่า นางงามประเทศนี้ยังกะนางแบก คือแบกความคาดหวังของคนทั้งประเทศไว้ อารมณ์แบบ..อย่างน้อยเธอต้องเข้าสิบนะ.. เคยได้ยินมาว่า ฟิลิปปินส์หรือเวทีทางลาตินอเมริกานี่มีโรงเรียนสอนสำหรับเตรียมพร้อมประกวดโดยตรง ..ของไทยก็อาจมี แต่ก็คือสถาบันสอนบุคลิกภาพธรรมดาๆ แค่เพิ่มโจทย์ไป

กระแสการเคลื่อนไหวของสังคม เรียกร้องให้การประกวดความงาม ต้องไม่ใช่เวทีมาให้ “คนรวยชอปเด็ก” และต้องมีอะไรมากกว่าการเดินยิ้มสวยๆ ผมตีโป่งฟาราห์ ฟอว์เซตต์ ..นั่นคือผู้เข้าประกวดก็ต้องมีสมอง และมีจิตสาธารณะในการรณรงค์สร้างสังคมที่ดี ..นี่เคยได้คุยกับผู้เข้าประกวดความงามบางคนที่ตกรอบ เขาก็บอกว่า “โอ๊ย !! เยอะไม่เข้าเรื่องน่ะพี่ ให้ทำโน่นทำนี่ บอกว่าเพิ่มคุณค่า ยกระดับอะไรก็ไม่รู้  สุดท้ายคนมงก็อายุการใช้งานแค่ปีเดียว บางเวทีเผลอๆ ปีหน้าจำคนมงปีก่อนไม่ได้แล้ว คนมงก็ต้องไปหาแสงต่อเองแบบไปเป็นดารา หนูไม่ค่อยเห็นนะประเภทไปทำโครงการทางสังคมแบบจริงๆ จังๆ อาจมีมั๊ง แต่ไม่เป็นข่าว แต่ไปมีผัวน่ะค่อนข้างแน่”

นางว่า การประกวดจะเอาความสามารถโน่นนี่เอาทัศนคติเชิงบวกโน่นนี่ ..ประมาณว่า ถ้าคุณไม่ทำตัว fierce มาก่อนแบบน้ำตาล ชลิตา สวนเสน่ห์ , ปุ๊กลุ๊ก ฝนทิพย์ วัชรตระกูล ให้มีภาพจำ… คุณก็ต้อง keep look กันสุดฤทธิ์ แล้วทั้งกองประกวดทั้งผู้ชมนี่ก็หวังเรื่องการตอบคำถามผู้เข้าประกวดความงามมาก ( ซึ่งหมายถึงทั้งเวทีชายและหญิง ) กูรูนางงามเกิดขึ้นเต็มเมือง พอๆ กับ “ตำรวจแฟชั่น” คือคอยวิจารณ์ว่า แต่งตัวแบบนี้สวยไหม mix&match อย่างไร ..ซึ่งมี “ตำรวจแฟชั่น”ไทยหน้าแหกระดับโลกมาแล้ว จากการไปวิจารณ์การแต่งตัวของ Cara Delevingne ดารา เซเล่บชื่อดัง  ปรากฏว่า การแต่งตัวชุดเดียวกัน กูรูแฟชั่นระดับโลกหลายคนให้ความชื่นชม .. ก็ไม่อยากจะว่า แล้วแต่สายตาคนมองล่ะกัน

กูรูนางงามนี่ดูตั้งแต่การเดิน การพรีเซนต์ชุด ที่ดูจะกดดันที่สุดสำหรับผู้เข้าประกวดคือการตอบคำถาม ซึ่งสมัยนี้ต้องยิ่งแข่งกันยากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ถามง่ายๆ ประเภท “ถ้าคุณเป็นตัวแทนของประเทศไทย คุณจะโปรโมทผลไม้อะไร” ซึ่งเป็นคำถามที่ทำให้เกิด meme นางงามไทยคลาสสิคตลอดกาลคือ “ไพลินชอบกินกล้วย” ซึ่งถ้าใครไม่รู้จัก meme นี้อย่างมาอ้างว่าดูนางงาม …คำถามนางงามสมัยใหม่ จะมุ่งให้ได้คำตอบประเภทเพิ่มพลัง ( empower ) ให้ผู้หญิง ประเภทว่า “พวกคุณทำได้” หรือจะเป็นเรื่องสถานการณ์อื่นๆ ระดับโลก ที่ชอบถามกันก็เรื่องสันติภาพกับสิ่งแวดล้อม เพราะ 1.ตอบโลกสวยไม่ยาก 2.โครงการรณรงค์สองเรื่องนี้เต็มไปหมด เอาอันไหนชอบๆ มาดัดแปลงก็ได้

เวทีผู้หญิงนั้น อาจต้องพัฒนากันสูงกว่าเวทีผู้ชาย เพราะกระบวนการต่อสู้มันมีมาอย่างยาวนานแล้ว เพื่อเปลี่ยนวาทกรรมการประกวดว่าคือพื้นที่ในการแสดงคุณค่า มากกว่าพื้นที่ในการแสดงความเป็นวัตถุทางเพศ  ..เวทีผู้หญิงจะมีบุคลิกที่ต่างกันอย่างพอจับต้องได้ แต่เวทีผู้ชายที่เป็นแกรนด์สแลม คือ manhunt, Mr International , Mr Supranational , Mr Global บุคลิกแทบไม่ต่างกัน แล้วก็…เผลอๆ ระยะเวลาที่ผู้ชมจำหน้าแชมป์ได้สั้นกว่าผู้หญิงอีก เวทีผู้ชายเลยต้องเพิ่มเรื่อง brain เข้ามามากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ beauty&business ว่าต้องตอบคำถามให้ปังด้วย

แล้วคำถามแบบไหนดีตอบให้ปังๆ ได้ ? ส่วนตัวเห็นว่า ต้องตอบประเภททำให้กรรมการเซอร์ไพรส์ ว่า ตายแล้ว เด็กคนนี้คิดลึกไปถึงขนาดนี้ ..อย่างเช่น ถามเรื่อง “คุณคิดว่า แผนงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคืออะไร ?”

ตอบแบบพื้นๆ ก็อาจตอบว่า “ผมคิดว่า ที่สำคัญคือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองครับ เพราะต้นไม้ช่วยปรับสภาพอากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์มาก และทำให้เกิดความสวยงามของผังเมือง”  หรืออีกเรื่องหนึ่งคือ “ผมคิดว่า เรื่องสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คือ การรณรงค์ทิ้งขยะอย่างเป็นที่ครับ เนื่องจากว่า ในประเทศไทยพบปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ขยะชิ้นเล็กอย่างก้นบุหรี่ถ้าโยนลงท่อระบายน้ำ ก็ทำให้อุดตัน พลาสติกก็ทำให้อุดตัน เมื่อเกิดภาวะฝนตก กรุงเทพจึงเจอปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งในน้ำสกปรกนั้นมีเชื้อโรคอันตรายด้วย”

นั่นคือสายอนุรักษ์ในเมือง ถ้าเป็นสายเที่ยว ตอบเรื่องทิ้งขยะเหมือนกัน ก็อาจบอกว่า “ผมรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงทะเลครับ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เนื่องจากสัตว์ทะเลหายากหลายอย่างเข้าใจว่าเป็นอาหารแล้วกินเข้าไปจนเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ลำไส้อุดตันตาย เราต้องช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์หายากด้วยนะครับ”

ถ้ามาประเภทอยากโชว์เหนือ แบบว่า ต้องตีแผ่ปัญหาเชิงนโยบายด้วย ก็จะบอกว่า “ผมรณรงค์เรื่องการ‘ปลูกป่าแล้วไม่ทิ้งขว้าง’ครับ เนื่องจาก แต่ละองค์กรจะมีงบประมาณสำหรับทำ CSR (Corporate Social Responsibility ) และมักจะเสนอกิจกรรมปลูกป่าซึ่งได้ทำด้วยกัน แต่ภาพที่ออกมาคือ การปลูกกล้าไม้บนพื้นที่เขาที่แทบจะหัวโล้น ซึ่งแดดจัดก็ทำให้กล้าไม้เหล่านั้นตาย แล้วปลูกเสร็จใครจะดูแลรดน้ำกล้าไม้  และงบกล้าไม้เพื่อทำโครงการนี่ ต้องตั้งคำถามว่า มีทุจริตคอร์รัปชั่นอะไรหรือเปล่า ถ้าจะให้โครงการนี้คุ้มทุนจำเป็นต้องมีการรายงานการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกอย่างโปร่งใสครับ”

หรือมาประเภทพี่รู้ลึกกว่า ออกขวางโลกหน่อยๆ  ก็อาจตอบว่า “คุณทราบหรือไม่ว่าการปลูกต้นไม้ในลักษณะนั้นมันไม่ต่างกับป่ายางพารา ที่สัตว์ป่าอาศัยไม่ได้ คนต่างหากที่ได้ ทั้งงบกล้าไม้ที่ไม่ทราบมีทุจริตหรือไม่ และการเกิดขึ้นของป่า คือการจัดการสมดุลธรรมชาติเองไม่ใช่ต้นไม้เรียงๆ กัน คุณเคยเห็นป่าดิบชื้นทางภาคใต้หรือไม่ นั่นแหละคือการจัดสมดุลในระบบนิเวศ ต้นไม้โตขึ้นอย่างสะเปะสะปะ แต่มันเอื้อต่อการใช้ชีวิตสัตว์ป่า ผมคิดว่า การปลูกป่าทดแทนไม่สำคัญเท่ากับการลงโทษผู้ที่รุกป่าด้วยมาตรกฎหมายที่แรงมากขึ้น”

หรือถ้าเราจะตอบให้เหนือกว่าโครงการที่ว่าล่ะ ก็อาจตอบว่า “เราต้องปรับปรุงเชิงนโยบายในเรื่องการกำจัดขยะอันตราย ประเทศไทยนำเข้าขยะเพื่อเข้ามารีไซเคิล แต่บางครั้งเป็นการแอบนำเข้าเกินโควตา เพราะมีสินบนมาเกี่ยว กลายเป็นพื้นที่ระบายขยะจากประเทศที่มีอัตราการผลิตสูงอย่างจีน ดังนั้น เราต้องควบคุมขยะพวกนี้ ทั้งจำนวน ทั้งพื้นที่ควบคุมที่ไม่ทำให้สารอันตรายแพร่ออกไป ทั้งสร้างบุคลากรในการจัดการขยะอันตราย”

คือการตอบอย่างสร้างสรรค์ ต้องเป็นการตอบที่กรรมการคาดไม่ถึง เป็นคำที่ดูยิ่งใหญ่ ปลุกเร้าให้เกิดการอยากรณรงค์ จะอธิบายอะไรแบบนี้ได้ ก็ต้องคิดคำเปิดคำปิดคำถามสวยๆ ไว้ด้วย เช่น “ทั้งหมดที่ผมว่ามานี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ส่งต่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานของเรา มาช่วยกันนะครับ”  แต่ในระหว่างเวลาสั้นๆ ที่ตอบนั่นแหละที่ต้องทำให้กรรมการทึ่งให้ได้ .. และกรรมการจะรักยิ่งขึ้นถ้าคุณสามารถตอบเป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะยุค “ประกวดสามารถ” แบบนี้คือเขาอยากให้ตัวแทนประเทศใช้ภาษาอังกฤษตอบเองไม่ต้องใช้ล่าม มันดูเก่งดี

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เขาก็ชอบถาม ซึ่งการตอบตามสูตรมันเข้าใจง่าย อย่างเช่น กรรมการถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไรที่ประเทศไทยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ?” จะตอบแบบ..ไม่รู้สึก เพราะตัวเองกะจะแต่งงานกับคู่สมรสทางเพศก็ตกรอบไป ดังนั้น เราต้องโอบรับเรื่องดีๆ ของสังคม โดยการตอบว่า “รู้สึกยินดีที่วันนี้ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมครับ เราจะได้มีกฎหมายที่ไม่ต้องใช้กรอบเพศในการแบ่งว่า ไหนสมรสชายหญิง ไหนสมรสเพศเดียวกัน เพราะการสมรสต่างก็เกิดขึ้นเพราะความรัก ร่วมกันฉลองความรักเบ่งบานในไทยครับ” อาจเติมไปหน่อยถ้ารู้ คือ จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญให้กลุ่มหลากหลายทางเพศสามารถใช้เชื้อหรือไข่ตัวเองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อการมีทายาทได้  

ถ้ามาสาย fierce หรือพูดง่ายๆ คือ‘สายบวก’ที่ไม่ใช่คิดบวก แต่บวกกับเขาไปทั่ว  ก็จะตอบว่า “อันดับแรก ผมขอใช้คำของเกรตา ธุนเบิร์ก นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมเยาวชนของสวีเดน พูดกับพรรคการเมืองที่ออกมาเคลมการผ่านกฎหมายตัวนี้ว่า how dare you ? ถามตัวเองซิว่า พวกคุณจริงใจกับการสมรสไม่แบ่งเพศจริงหรือไม่ หรือแค่ว่า วันนี้คุณรู้แล้วว่า กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศคือกลุ่มที่มีอิทธิพลในโซเชี่ยลมีเดีย มีจำนวนมากส่งผลต่อการโหวต ทำให้คุณผ่านกฎหมายแบบ rainbow washing คือคุณแค่เอาธงรุ้งมาหุ้มตัวโดยที่คุณไม่ได้อิน

เรื่องการสมรสเท่าเทียม มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่กรณีเกย์นที ธีระโรจนพงษ์ จะไปขอจดทะเบียนสมรสกับแฟนหนุ่มที่เชียงใหม่และโดนปฏิเสธ และมีคู่หญิงรักหญิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ปพพ.1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภาคประชาชนมีกระบวนการยกร่างกฎหมายมาอย่างยาวนาน พยายามยกร่างกฎหมายที่การสมรสมีความเท่าเทียมกันจริงๆ ดังนั้น เครดิตควรจะอยู่ที่ภาคประชาชนที่พยายามสื่อสารว่าเขาต้องการอะไร มากกว่านักการเมืองบางคนที่เคยพูดว่า ‘รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย’ การที่คุณไม่ให้ความสำคัญกับเครดิตการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน คือการทำลายการเคลื่อนไหว การแสดงสิทธิพลเมืองของภาคประชาชน แล้วเมื่อไรกันที่คำว่า ‘ประชาชนมีสิทธิ์เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้’ จะศักดิ์สิทธิ์และเป็นจริง”

การตอบแบบนี้เป็นการตอบที่ท้าทายและกล้าหาญดี ถ้ากรรมการไม่ชอบฟังอะไรโลกไม่สวยก็อาจปัดตกรอบ หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ฮิตมากๆ ในประเทศไทยคือซีรีย์วาย นิยายวาย กรรมการอาจถามว่า “ซีรีย์วาย หรือนิยายวาย  ส่งเสริมเรื่องความเข้าใจต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างไร ?”

ตอบเอาสวยคือบอกว่า “เพราะเนื้อเรื่องของซีรีย์พวกนั้น คือ ‘รักที่เธอเป็นเธอ’ มันชี้ให้เห็นถึงความรักในอุดมคติที่ทั้งรักเดียวใจเดียว และไม่มีเรื่องเพศมาเป็นกฎเกณฑ์หรืออุปสรรคกีดกั้น แต่ความรักมันเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์  ดังนั้น ซีรีย์วายจะทำให้คนมองคุณค่าของความรักมากว่ามายาคติเรื่องเพศ”

ตอบเอาไม่สวย แต่เอาแบบโชว์กึ๋น “ไม่ช่วยอะไร เพราะซีรีย์วาย นิยายวาย ก็เป็นแค่ภาพฝันของกลุ่มคนที่ชอบเสพเรื่องแนวนี้ เผลอๆ ตอบสนองต่อความต้องการทางเพศในเชิง sex ด้วยไม่ใช่ romance และมันพูดถึงแต่มิติความสัมพันธ์ ไม่รู้ใจตัวเอง พ่อแง่แม่งอน ตัวเอกคือภาพของคนชั้นกลางถึงชั้นสูง หรือกลุ่มที่ไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตในฐานะ LGBT มันแค่ทำให้รู้ว่ารักร่วมเพศมีจริง แต่ไม่ได้มีมิติทางสังคมอะไรที่ให้ความรู้หรือพัฒนาให้คนอ่านเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของความเป็นคนรักร่วมเพศ สิ่งที่สังคมกระทำต่อพวกเขา แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหา”

ทีนี้กรรมการสงสัยหน่อย เพราะเห็นว่า ซีรีย์, นิยายวาย เยอะมาก จะมีภาวะเป็นฟองสบู่หรือไม่ หรือฮิตกันถึงจุดนึงก็มีคนออกมาด่าจนกลายเป็นใครชอบเป็นเรื่องเฉิ่ม อย่างเพลง broken heart woman เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนที่ทำกันร้อยเนื้อทำนองเดียว ผู้ประกวดรายเดิมก็ตอบว่า “ในวงการซีรีย์ วันนึงอาจแตก เนื่องจากปัจจุบันการผลิตซีรีย์วายล้นตลาด ออกทางหลายแพลตฟอร์ม แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จจริงๆ น้อย อย่างเช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ คั่นกู รักโคตรร้ายสุดท้ายโคตรรัก ..การลงทุนซีรีย์ใช้เงินมาก และโอกาสไม่ทำเงินสูงเนื่องจากบางเรื่องใช้แค่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ..ส่วนนิยายวาย หลายเรื่อง เป็นนิยายที่ตอบสนองต่อความต้องการทางเพศ จนเทียบได้กับหนังสือโป๊แบบปกขาว ถ้าตราบใดมนุษย์ยังต้องการเซกส์ เรื่องเซกส์ก็ยังขายได้ แต่ธรรมชาติจะคัดสรรนักเขียนฝีมือไม่ดีออกไปเอง”

กรรมการไม่รู้จะปรบมือให้หรือสอนต่อดี ..ก็ถือเป็นงานเขียนเบาๆ ช่วงเทศกาล ให้เห็นวิธีตอบคำถามประกวดความงาม.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่