แต่ปีนี้ กลายเป็นว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาเคลื่อนไหว “อย่างมีนัยยะสำคัญ” ทำให้ต้องจับตาการเมืองหลังสงกรานต์กันเป็นพิเศษไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจหรือไม่ โดยเฉพาะการปรับ ครม. ซึ่งดูจากการที่ สส.พรรคเพื่อไทยแห่กันไปรดน้ำดำหัว“นายใหญ่ของพรรค” ก็อารมณ์เหมือน “ไปให้ผู้ใหญ่เห็นหน้า”

เรื่องปรับ ครม.ก็เป็นประเด็นที่สังคมสนใจอยู่ เสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลังก็แย้มๆ แย๊บๆ ว่า “อาจต้องมีการปรับคนให้เหมาะกับงานมากขึ้น” จริงๆ การปรับ ครม.นี่ นายทักษิณสร้าง“วัฒนธรรม”ไว้อย่างหนึ่ง คือ “สมบัติผลัดกันชม” สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ปรับ ครม.10 ครั้ง รัฐบาลทักษิณ 2 ถ้าไม่โดนยึดอำนาจอาจปรับกันสนุกกว่านี้ เนื่องจากขณะนั้นไทยรักไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด …อย่างไรก็ตาม การปรับ ครม.สมัยทักษิณนี่ต้องบอกว่า อดีตนายกฯ เก่งเรื่องการประชาสัมพันธ์ ปรับแต่ละทีรัฐมนตรีต้องมีผลงาน ถึงมานั่งตามโควตานายทุน โควตากลุ่ม ก็ต้องมีผลงานให้เห็น ไม่ให้เป็นรัฐมนตรีโลกลืม

พอมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นเรื่องที่ “ไม่ค่อยงาม” ( ใช้คำนี้แล้วกัน ) อยู่พอสมควร ที่มีการโหวตรัฐมนตรีที่โลกลืม ปรากฏว่า ผลคือ ประชาชนจำไม่ได้ว่าใครเป็น รมว.อุตสาหกรรม !! และอีกหลายตำแหน่งในส่วนของประชาธิปัตย์เองก็โลกลืม ( ตอนนั้นเป็นรัฐบาลผสม ) ขณะที่รัฐมนตรีในสัดส่วนภูมิใจไทยกลับเป็นคนที่ประชาชนจำได้มากกว่า ..ที่เล่ามา ก็คือการอนุมานว่า ที่ สส.เพื่อไทยแห่ไปพบนายทักษิณก็ “ให้จำหน้าได้” เผื่อจับพลัดจับผลูไม่ได้ใน ครม.นิด 2 ก็ไปได้ใน ครม.นิดที่เท่าไรก็ไม่รู้ เท่าที่รัฐบาลนี้จะอยู่ได้

ความน่าเศร้าของประเทศไทยคือ ครม.ไม่ได้จัดตามคนเก่ง ตรงสายงานเท่าที่ควร แต่จัดตามระบบโควตา อย่างของประชาธิปัตย์ก็ใช่ มีข้อกำหนดว่าต้องเคยเป็น สส.กี่สมัยว่าไป .. จนมาถึง ครม.นิด 1 นี่ก็มี ครม.ประเภทแบบ..คือพยายามนั่งดูผลงานแล้วก็ไม่ค่อยจะเห็น อย่างศึกษาธิการที่อยู่กับภูมิใจไทย กลายเป็นกระทรวงที่ไร้ผลงาน ไอ้ที่เป็นข่าวก็แค่เรื่องว่า บิ๊กอุ้ม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาฯ ไปชื่นชมระบบของเกาหลีเหนือ ..เห็นนามสกุลรัฐมนตรีก็รู้ว่า “โควตาบ้านใหญ่” ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญมากเพราะกำหนดแนวทางในการพัฒนาเยาวชน

มันอารมณ์เหมือนกับว่า ตอนแบ่งเค้กรัฐมนตรีกัน เพื่อไทยพยายามดึงกระทรวงเศรษฐกิจมาให้อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด พรรคอื่นก็อยากได้กระทรวงด้านนี้ แต่ปัญหาคือ เขาก็มีกำลังต่อรองแข็งขันพอ เพื่อไทยเลยต้องเสียกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พลังประชารัฐ ( พปชร.) พลังงานให้รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) แต่อย่างไรก็ต้องกอดคมนาคมและพาณิชย์ไว้กับตัว ดังนั้นเลยโยนกระทรวงสายสังคมและการศึกษาให้ภูมิใจไทยไป

ปรับ ครม.เที่ยวนี้ สิ่งที่เสี่ยนิดบอกว่า “ให้ถูกฝาถูกตัว” ก็น่าจะเป็นเอา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน รมว.สาธารณสุข , นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กลับสภาไป เพราะเข้าใจว่า “งานสภาต่อจากนี้ หนัก” ที่ผ่านมาคือก้าวไกลกับประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่ประมาทไม่ได้ ประชาธิปัตย์นั้นเหมือนพรรคจะแตก แต่คนที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างหยิ่งทะนงก็ใช่ย่อย อย่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ตอนอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตาม ม.152 ก็ตั้งคำถามเรื่อง “จะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขอให้พูดให้ชัดว่า รวมนิรโทษมาตรา 157 หรือไม่ ?” ฟังดูอาจไม่ค่อยมีอะไร แต่เอาจริงแล้วนั่นคือการดักคอไว้ก่อน ว่า “จะนิรโทษกรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่” เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดคดี ป.อาญา ม.157 ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าว

และนายทักษิณเองก็ดูมั่นเหลือเกินว่า น้องสาวจะกลับได้ปีนี้หรือปีหน้า พอถามเจาะก็ว่าน่าจะเดือน ต.ค.ปีนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีกรณีเล่นกลอะไรกันอีกด้วยเกณฑ์สภา แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า จะให้มีม็อบออกมามันคงยากแล้ว เพราะดูเหมือนไม่มีผู้นำที่กล้าเปิดหน้า เหมือนม็อบเสื้อแดง พันธมิตรฯ หรือ กปปส.  

การอภิปราย ม.152 ที่ผ่านมา ทางพรรคก้าวไกลบอกให้จับตามองนายรังสิมันต์ โรม และนายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งทางรังสิมันต์ก็อภิปรายได้ดีเกี่ยวกับเรื่องแกงค์คอลเซนเตอร์ ( พอพูดถึงเรื่องนี้ คิดว่าคงมีคนนึกไม่ค่อยออกว่า รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอสของเรา ชื่ออะไรหว่า ไม่เห็นมีผลงาน ) ด้านวาโยอภิปรายเรื่องอาการป่วยทิพย์ของนายทักษิณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในสภาจะมีการตีวัวกระทบคราดเรื่องนายทักษิณมากมายหลายรอบ แม้ว่า ทางรัฐมนตรีจะชี้แจงเพียงว่า “เราทำถูกต้องแล้วตามระเบียบราชทัณฑ์ๆๆๆๆๆ” พูดเข้าไปเถอะ ระเบียบมันถูก ใช่ แต่ปัญหาคือ คนทั่วไปที่เขาเห็นอยู่เขาจะรู้สึกอย่างไร

โคมาอยู่โรงพยาบาลตำรวจหกเดือน ( ถ้าไม่โคมาเขาคงส่งกลับ รพ.ราชทัณฑ์แล้ว จริงไหม ) พอออกมาปุ๊บ ป่วยต่อไม่กี่วัน ก็ใช้“ใจบันดาลแรง” ดูแข็งแรงแบบปาฏิหาริย์มีจริง ไม่บอกว่าป่วยไม่รู้เลยนะเนี่ย เห็นตอนเดินสายพบประชาชนช่วงสงกรานต์ แถมให้ สส., รัฐมนตรีเข้าพบรดน้ำดำหัว ใครไปถามความเหมาะสมก็คงได้รับคำตอบแบบโวยวายกลับมาว่า ทำไม ? จะไปไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพไม่ได้หรือไง..แค่นี้ จบ อย่าพูดถึงประเด็นว่า มีศักดิ์ศรีหน้าตาเป็นฝ่ายบริหารของประเทศแล้วควรไปไหว้ “นักโทษเทวดา”หรือเปล่า

ถ้าใช้โควตาพรรค ก็“มีโอกาสที่เป็นไปได้”ว่า “คนคุมเกม”ปรับ ครม.คือเจ้าของพรรคนั่นแหละ.. รัฐมนตรีบางตำแหน่ง อาจปรับเพราะ“ผลงานไม่เข้าเป้า” หรือ “ตกลงกันไว้แล้วเรื่องสมบัติผลัดกันชม” ก็ไม่รู้ เอาเป็นว่า ประเทศนี้เขาไม่ค่อยตั้งรัฐมนตรีตามความรู้ความสามารถ กระทรวงที่คนในพรรคต่างกระโดดหนีคือกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี่มันละเอียดอ่อน ต้องมีความรู้เยอะ มารยาททางการทูต ภาษา อะไรต้องได้ การแสดงท่าทีอะไรบางอย่างหากเลือกข้างผิดทำประเทศฉิบหายได้ เราเลยไม่ค่อยเห็นใครกระสันอยากได้กระทรวงนี้นัก ข่าวว่า ตอนตั้ง ครม.นิด 1 มี “รัฐมนตรีบางคน” ที่ถูกวางให้เป็นบัวแก้ว 1 ( รมว.ต่างประเทศ ) แต่รีบไปขอเปลี่ยนทันที บอกว่าไม่ถนัด ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ในสุดแล้ว ไทยได้นายปานปรีย์ พหิธานุกรที่เป็นงานมานั่งบัวแก้ว 1

ย้อนกลับไปข้างต้น เรื่องการปรับเพื่อรับมือเกมสภาที่แรงขึ้น เพราะคาดว่า เปิดสภามาเดือน ก.ค. ฝ่ายค้านน่าจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และต้อง“ฟาด”นโยบายกล่องดวงใจของพรรคเพื่อไทย คือดิจิทัลวอลเลต ซึ่งตอนนี้เริ่มมีคนออกมาพูดว่า “ไปยืมเงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้ มันผิดวินัยการเงินการคลัง เพราะใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ และถ้ายืมต้องมีดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.” เช่นนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง

(ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องชมพรรคเพื่อไทยที่การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตั้งแต่สมัยไทยรักไทย มีความสามารถในการสร้างคำจำ ให้เป็นบุคลิกของพรรคได้ ซึ่งพรรคอื่นสร้างคำจำได้ไม่เท่า ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยหาเสียง ก็ใช้คำจำ “ 30 บาทรักษาทุกโรค , ทำสงครามยาเสพติดและความยากจน พอมารัฐบาลจากพรรคพลังประชาชน ก็ใช้คำจำ “รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน” พอมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือรัฐบาลเพื่อไทย ก็ใช้คำจำ “จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท และรัฐบาลเสี่ยนิด ก็มีเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท การสื่อสารการตลาดของพรรคนี้เก่งพอสมควร)

แล้วในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ที่มีการยื้อเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกว่า “ต้องทำประชามติกี่ครั้ง” ก็เพราะต้องให้ “เกมเข้าทางเพื่อไทย” ให้ได้อย่างสมัยรัฐธรรมนูญปี 60 ที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ พูดระหว่างหาเสียงกับพรรค พปชร.เลยว่า “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” จะร่างใหม่ก็ต้องให้ได้แบบนั้นสิ อำนาจมันหอมหวาน มีเมื่อไรต้องกอดรักษาไว้ยิ่งชีพ

ขณะเดียวกัน ในส่วนการสานสายสัมพันธ์กับกองทัพก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต่างก็รู้ว่ากองทัพใช้กำลังพลทำรัฐประหารได้ ซึ่งเรื่องผลประโยชน์ในกองทัพมันมีมหาศาล จะให้ปฏิรูปแบบ “คืนทุกอย่างให้ประชาชน ลดอัตรากำลังพลไม่จำเป็น”ตามแนวคิดพรรคก้าวไกลเห็นทีกองทัพจะไม่ชอบ คือมันต้องมี “ทางลง”บางอย่างที่สมยอมกันได้ด้วย จึงมีชื่อของ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ทหารที่สนิทกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานั่งเป็น รมช.กลาโหม และให้เสี่ยนิดนั่งว่าการแบบเอาเกียรติเอาศรีก็ได้ เหมือนที่ตอนนี้นั่ง รมว.คลังด้วยแต่คนที่มีบทบาทมากกว่าคือ รมช.หนิม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ที่ต้องออกมาเป็นหนังหน้าไฟเรื่องเงินดิจิทัลตลอด

เรื่องเงินดิจิทัลนี่ เชื่อว่า ฝ่ายค้านจ้องตาเป็นมันอยู่แล้วว่า เอื้อผลประโยชน์ใคร ? โดยเฉพาะหากให้ซื้อแต่สินค้าร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ที่มีทั่วเมือง ก็ชัด..เอื้อนายทุน เพราะการรับเป็นดิจิทัลมา ร้านเล็กก็ไม่อยากได้เนื่องจากมันก็มีขั้นตอนในการขึ้นเงินสด และฝ่ายค้านจะดูเรื่องข้อดีในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อตั้งเงื่อนไขยุบยับเกินไป และกระเป๋าเงินดิจิทัลมีอายุ ดังนั้น “จะต้องมีเงินเหลือเข้าระบบเพื่อคืนหนี้เท่าไร”

แต่พูดก็พูดเถอะ ว่า เรื่องเงินดิจิทัลนี่ กลายเป็นประชานิยมมอมเมา คือไม่รู้สึกกันเหรอ ? ที่เวลานายกฯ ลงพื้นที่แล้วมีประชาชนมาถามเมื่อไรจะได้เงินๆๆๆ ..ย้อนกลับไปคิดถึงสิ่งที่ทักษิณพูดตอนทำคลับเฮาส์กลุ่มแคร์ ตอนนั้นน่าจะวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องแจกเงินช่วยโควิด นายทักษิณพูดทำนองว่า “การเอาเงินไปแจกประชาชนเป็นเรื่องโง่เต็มที” แล้ววันนี้โครงการแจกเงินกลายเป็นนโยบายเรือธงของเพื่อไทย ที่พยายามสะกดจิตให้ประชาชนเชื่อให้ได้ว่า เศรษฐกิจมันวิกฤตต้องกู้มาแจก ทั้งที่ ป.ป.ช.ก็ทักท้วง ( ถ้าจำไม่ผิดแบงค์ชาติก็ไม่เห็นด้วย ) หรือว่า เพื่อหวังคะแนนเสียง เพื่อไทยจะกลายเป็นรัฐบาลขายประชานิยมแจกเงินอีก โดยเฉพาะเลือกตั้งครั้งหน้าที่ดูท่าทางก้าวไกลอาจมาแรง เนื่องจากคนเบื่อพวกกลุ่มการเมืองเก่าๆ เข้ามาบริหารแล้ว และบางคนก็ยังติดภาพการที่เพื่อไทยผละจากก้าวไกลไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่มีที่มาจาก คสช.   

ตอนนี้ “บอสใหญ่”กำลังจะเปิดหน้าแล้ว การเตรียมสู้ศึกแรกคืองานสภา การสร้างคะแนนนิยมเพื่อคงอำนาจไว้เรื่อยๆ การจัดการคู่แข่งทางการเมือง ก็จะแรงขึ้นเป็นลำดับ แต่คู่แข่งก็ไม่ใช่ว่าจะเล่นงานง่าย.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่